AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

6 สมุนไพรลดความดัน ที่หาทานง่ายและลดความดันได้จริง

สมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยลดความดันในเลือดได้ดี เป็นสมุนไพรที่หาทานได้ง่าย ราคาไม่สูง

สำหรับคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะความดันโลหิตสูง ทราบหรือไม่ว่านอกจากการรักษาอาการดังกล่าวโดยการทานยาแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตก็มีส่วนช่วยในการบรรเทาอาการได้ สมุนไพรลดความดัน ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาบรรเทาอาการได้ และรู้หรือไม่ว่า พืชสมุนไพรไทยที่มีขายตามท้องตลาดบ้านเรา มีสรรพคุณในการลดความดันได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

6 สมุนไพรลดความดัน ที่หาทานง่ายและลดความดันได้จริง

โรคความดันโลหิตสูง คืออะไร?

ความดันโลหิต หมายถึง แรงดันของกระแสเลือดที่กระทบต่อผนังหลอดเลือดแดงซึ่งเกิดจากการสูบฉีดของหัวใจสามารถวัดได้โดยการใช้เครื่องวัดความดัน โดยวัดที่แขน และมีค่าที่วัดได้ 2 ค่า คือ ความดันช่วงบน (แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจบีบตัว) และ ความดันช่วงล่าง (แรงดันเลือดในขณะที่หัวใจคลายตัว)

โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension หรือ High blood pressure) คือ ภาวะที่ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ โดยพบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และจะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ ส่วนเด็กก็สามารถพบว่าเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก

ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือปล่อยให้มีความโลหิตสูงเป็นเวลานาน ๆ มักจะเกิดความผิดปกติของอวัยวะที่สำคัญต่าง ๆ ตามมา เช่น สมอง ประสาทตา หัวใจ ไต หลอดเลือดแดงใหญ่ และหลอดเลือดแดงส่วนปลาย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ เนื่องจากความดันโลหิตสูงจะทำให้หลอดเลือดแดงแทบทุกส่วนของร่างกายเสื่อม เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis) หลอดเลือดตีบ เลือดไปเลี้ยงอวัยวะไม่ได้ ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ดังนี้ ภาวะหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก กลายเป็นโรคอัมพาตครึ่งซีก โรคความจำเป็นเสื่อม  โรคหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย ภาวะหัวใจวาย ตาบอด ภาวะไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ 6 สมุนไพรลดความดัน ที่หาได้ง่าย ทานง่าย และยังได้ผลดีอีกด้วย

6 สมุนไพรลดความดัน ที่หาได้ง่าย ทานง่าย และยังได้ผลดีอีกด้วย

1. กระเทียม

กระเทียม สมุนไพรลดความดัน ที่นำมาผสมกับอาหารเพื่อเพิ่มความอร่อย

เจ้าสมุนไพรที่มีกลิ่นฉุน นิยมนำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารชนิดต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรสชาติให้มีความอร่อยยิ่งขึ้น นอกจากความอร่อยแล้ว ยังเป็น สมุนไพรลดความดัน ได้ดี โดยมีงานวิจัยกล่าวว่า กระเทียมสามารถลดความดันโลหิตตัวบนได้ถึง 12 มิลลิเมตรปรอท และลดความดันตัวล่างได้ 9 มิลลิเมตรปรอท สารอัลลิซินในกระเทียม ช่วยเพิ่มการสร้างไนตริกออกไซด์ ซึ่งมีผลขยายหลอดเลือด ทำให้ความดันลดลง ด้วยทานกระเทียมเพียงวันละ 1-2 กลีบ ติดต่อกันเป็นเวลา 12-23 สัปดาห์ กระเทียมที่ทานควรเป็นหัวกระเทียมแก่ เพราะหากเป็นกระเทียมที่ยังอ่อนอยู่หรือกระเทียมที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว จะได้สรรพคุณไม่เทียบเท่ากับหัวกระเทียมแก่

2. ขิง

ขิง สมุนไพรที่มีรสชาติเผ็ด และมีสรรพคุณในการลดความดันโลหิตสูง

สมุนไพรโบราณที่นำมาใช้ในการรักษาโรคมามากกว่า 5,000 ปี ซึ่งไม่เพียงช่วยย่อยอาหาร แต่ยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและยังเป็น สมุนไพรลดความดัน อีกด้วย ขิง มีฤทธิ์ขยายหลอดเลือด ซึ่งมีกลไกการออกฤทธิ์คล้ายคลึงกับยาในกลุ่ม calcium channel blocker นอกจากนี้ขิงยังมีผลลดการอักเสบ ลดไขมันในเลือด ได้อีกด้วย เนื่องจากขิงเป็นพืชที่มีฤทธิ์ร้อน   หากรับประทานมากไปอาจจะทำให้เกิดร้อนใน และแผลในกระเพาะอาหารได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีนิ่วในถุงน้ำดีและรับประทานยาละลายลิ่มเลือดควรปรึกษาแพทย์และระมัดระวังในการใช้ด้วยค่ะมีผลลดความดันโลหิต

3. กระเจี๊ยบแดง

กระเจี๊ยบแดง มีสรรพคุณในการลดความดันโลหิตสูง ทานง่าย

ดอกไม้สีแดงเข้มที่มีความหอม และรสหวานอมเปรี้ยว ที่เรามักนิยมนำมาต้มเพื่อนำน้ำมาดื่มนี้ ถูกศึกษาและวิจัยจนพบว่าเป็น สมุนไพรลดความดัน ได้ เนื่องจากในกระเจี้ยบแดงมีสารแอนโธไซยานิน ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วก็จะไปช่วยเสริมสร้างให้หลอดเลือดแข็งแรง นอกจากนี้ กระเจี๊ยบแดง ยังมีสรรพคุณในการบำรุงไตและหัวใจ  ขับปัสสาวะ ขับยูริค และลดการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะภายหลังการผ่าตัดในไตได้

วิธีรับประทานกระเจี้ยบก็ไม่ยาก เพียงนำกลีบเลี้ยงของดอกกระเจี๊ยบไปตากแห้งแล้วนำมาบดชงดื่มวันละ 3 ครั้ง เป็นประจำทุกวันก็จะทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ค่ะ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าการดื่มชากระเจี๊ยบวันละ 2 – 3 ครั้ง สามารถลดความดันโลหิตตัวบนลงตั้งแต่ร้อยละ 7.2 ถึง 13 เลยทีเดียว

4. ขึ้นฉ่าย

ขึ้นฉ่าย ผักที่มีกลิ่นฉุน นำมาปรุงอาหารเพื่อช่วยดับกลิ่นคาว แต่กลับมีสรรพคุณในการลดความดันโลหิตได้

ขึ้นฉ่าย เป็น สมุนไพรลดความดัน ที่ชาวเอเชียนำมาใช้เป็นยาลดความดันโลหิตต่อเนื่องกันมายาวนานกว่าว่า 2,000 ปี โดยชาวจีนและเวียดนามเชื่อว่าการรับประทานขึ้นฉ่ายวันละ 4 ต้น จะทำให้ความดันโลหิตเป็นปกติ หรืออาจใช้ขึ้นฉ่ายสด (ไม่เอาราก) ล้างให้สะอาด คั้นเอาแต่น้ำ เติมน้ำผึ้งหรือน้ำเชื่อมจำนวนเท่ากัน ดื่มครั้งละ 40 มิลลิลิตร วันละ 3 ครั้ง (อุ่นก่อนดื่ม) ทดลองในผู้ป่วย 16 ราย ได้ผล 14 ราย ไม่ได้ผล 2 ราย โดยทั่วไปความดันโลหิตเริ่มลดลง หลังจากกินยาแล้วหนึ่งวัน มีบางรายที่ความดันเริ่มลดลงหลังจากกินยาไปแล้ว 4 วัน ผู้ป่วยจะรู้สึกเองว่าอาการดีขึ้น นอนหลับดี ปริมาณปัสสาวะมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการศึกษาวิจัยพบว่าขึ้นช่ายมีฤทธิ์ในการคุมกำเนิด ยับยั้งมะเร็ง ลดคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ได้อีกด้วย

5. ใบบัวบก

ใบบัวบก ผักที่ทานกับน้ำพริกก็อร่อย คั้นเป็นน้ำดื่มก็หอม มีสรรพคุณลดความดันในเลือดสูง ได้อีกด้วย

น้ำใบบกช่วยแก้อาการช้ำในได้ แต่ในใบบัวบกไม่ได้มีสรรพคุณเพียงแค่นี้ ใบบัวบกยังมีคุณประโยชน์อีกมากมาย โดยเฉพาะเป็น สมุนไพรลดความดัน โดยกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แนะนำว่าการดื่มน้ำใบบัวบกเป็นประจำทุกวันทำให้ความดันโลหิตลดลงได้ และยังช่วยทำให้เลือดในหลอดเลือดดำและเส้นเลือดฝอยไหลเวียนได้ดีขึ้น  ช่วยขยายหลอดเลือด และช่วยคลายเครียดได้อีกด้วย วิธีรับประทานก็ไม่ยาก เพียงนำบัวบกทั้งต้นมาคั้นเอาแต่น้ำดื่ม โดยอาจจะเติมน้ำตาลเล็กน้อยหรือจะผสมกับน้ำใบเตยเพื่อลดรสชาติเหม็นเขียวก็ได้

6. มะรุม

มะรุม สุดยอดสมุนไพรที่ผู้ป่วยความดันในเลือดสูงควรทาน

นับเป็นอาหารสุขภาพที่เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด โดยจากประสบการณ์การใช้ของชาวบ้านทั้งในไทยและต่างประเทศ และการศึกษาทางเภสัชวิทยา พบว่า ส่วนของใบและรากของมะรุม มีฤทธิ์ในการลดความดันโลหิตได้ สำหรับตำรับยาแก้ความดันโลหิตสูง เช่น นำรากมาต้มกินเป็นซุป นำยอดมาต้มกิน ใช้ยอดมะรุมสด โดยจะเป็นยอดอ่อนหรือยอดแก่ก็ได้ นำมาโขลกคั้นเอาน้ำ (ถ้าไม่มีน้ำให้เติมน้ำลงไปพอให้เหลวข้น) ผสมน้ำผึ้งพอหวาน กินวันละ 2 ครั้ง ครั้งละครึ่งแก้ว หากต้องการทานมะรุมติดต่อกันนานๆ อาจต้องคอยตรวจเช็คค่าการทำงานของตับ เนื่องจากอาจมีผลทำให้เอนซ์ไซม์ตับเพิ่มขึ้นได้ในบางราย และระวังการใช้ร่วมกับยาที่มีผลลดอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากมะรุมมีผลทำให้หัวใจเต้นช้าลงเช่นกัน และสตรีมีครรภ์ ควรระมัดระวังในการทานมะรุม สมุนไพรลดความดัน นี้

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

อ่านต่อ รู้ไหม! นอกจาก สมุนไพรลดความดัน แล้ว ยังมี 10 วิธีลดความดันสูงด้วยตัวเอง แบบง่าย ๆ อีกด้วย

10 วิธีลดความดันสูงด้วยตัวเอง แบบง่าย ๆ ใคร ๆ ก็ทำได้

1. ลดน้ำหนัก
ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง มักจะมีน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการที่ร่างกายมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ส่งผลต่อการหายใจขณะนอนหลับ และนำไปสู่การเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้ในที่สุด การลดน้ำหนักจึงถือว่าเป็นหนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิผลมากที่สุดในการช่วย ควบคุมความดันโลหิต โดยผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ควรมีดัชนีมวลกาย (BMI) น้อยกว่า 25 กก./ม.2 (หรือถ้าลดได้น้อยกว่า 23 กก./ม.2 เลยได้ยิ่งดี)

2. บริโภคอาหารควบคุมความดัน

เน้นการรับประทานผักและผลไม้ที่มีกากใยสูง (เพราะมีโพแทสเซียมมาก ซึ่งจะส่งผลดีต่อการควบคุมความดัน) ผลิตภัณฑ์นมที่มีไขมันต่ำ เมล็ดธัญพืช ถั่วต่าง ๆ ปลาที่อุดมไปด้วยกรดไขมันที่ดีต่อร่างกาย ลดการบริโภคเนื้อสัตว์ใหญ่ (สัตว์ที่มีเนื้อแดง) แป้ง น้ำตาล ของหวาน ไขมันอิ่มตัว และอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง สามารถลดความดันโลหิต ได้สูงสุดถึง 14 มิลลิเมตรปรอทเลยทีเดียว

3. ลดการบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง

อาหารที่มีโซเดียมสูง คือ อาหารเค็ม (เช่น ไข่เค็ม เนื้อเค็ม ปลาเค็ม น้ำพริก กะปิ ปลาร้า หนำเลี้ยบ อาหารที่ใส่หรือจิ้มเกลือ ของดองเกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว หรือซอสที่มีรสเค็ม ฯลฯ) เกลือแกง (โซเดียมคลอไรด์) ควรบริโภคให้น้อยกว่าวันละ 6 กรัม หรือ 1 ช้อนชา และลดการบริโภคอาหารที่ใส่ผงฟู (เช่น ขนมปัง ขนมสาลี่ ขนมถ้วยฟู) ผงชูรส และสารกันบูด (เช่น อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป) รวมทั้งโซเดียมไบคาร์บอเนต (เช่น ยาธาตุน้ำแดง ยาเม็ดโซดามินต์) การลดการทานอาหารที่มีโซเดียมสูงเพียงแค่เล็กน้อย จะสามารถช่วย ลดความดันโลหิต ได้ 2-8 มิลลิเมตรปรอท ทั้งนี้ร่างกายคนเราไม่ควรได้รับโซเดียมเกินวันละ 2,300 มิลลิกรัม ดังนั้นจึงควรเลือกอาหารที่มีโซเดียมต่ำ อย่าใส่เกลือในอาหารมากเกินไป หลีกเลี่ยงการทานอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น

4. ออกกำลังกายเป็นประจำ

ควรออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที โดยเน้นการออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะ ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ การออกกำลังกายเป็นประจำจะสามารถช่วย ลดความดันโลหิต ได้ประมาณ 4-9 มิลลิเมตรปรอท

5. งดหรือลดการดื่มแอลกอฮอล์

เป็นที่ทราบกันดีว่าเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ จะก่อให้เกิดโทษแก่ร่างกาย โดยจำกัดการดื่มไม่ให้มากเกินไป โดยผู้ชายให้ดื่มได้ไม่เกินวันละ 2 หน่วยการดื่ม (Drink) ซึ่งเทียบเท่ากับวิสกี้ 90 มิลลิลิตร ไวน์ 300 มิลลิลิตร หรือเบียร์ 720 มิลลิลิตร ส่วนผู้หญิงให้ดื่มได้ไม่เกิน 1 หน่วยการดื่ม

6. งดการสูบบุหรี่
การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่ทำให้สุขภาพปอดแย่เท่านั้น แต่ยังทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นอีกด้วย ดังนั้น การเลิกสูบบุหรี่จะสามารถทำให้ผู้ป่วยกลับมามีความดันโลหิตอยู่ในระดับปกติ อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่จะอายุยืนกว่าผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย

7. ลดการทานเครื่องดื่มประเภทคาเฟอีน 

แม้ว่ายังเป็นที่โต้เถียงกันว่าสารคาเฟอีนในเครื่องดื่มจำพวกกาแฟหรือชา มีความเชื่อมโยงกับอาการความดันสูง หรือไม่ ทั้งนี้มีการค้นพบว่า ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มดังกล่าวนาน ๆ ครั้งจะมี อาการความดันสูงขึ้นได้มากสุดไม่เกิน 10 มิลลิเมตรปรอท แต่กลับไม่มีผลกระทบร้ายแรงสำหรับผู้ที่ดื่มเป็นประจำ

8. เลิกเครียด
แม้ว่าความเครียดจะเป็นสิ่งที่ยากจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ความเครียดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การมีอาการความดันโลหิตสูง จึงหาวิธีจัดการหรือวิธีรับมือกับความเครียด เช่น เช่น สวดมนต์ ทำสมาธิ โยคะ รำมวยจีน ชี่กง ร้องเพลง เล่นดนตรี หรือทำงานอดิเรกต่าง ๆ เป็นต้น

9. พบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ
การไปพบแพทย์เป็นประจำถือว่าเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยควบคุมความดันโลหิตได้ เพื่อให้แพทย์แนะนำและรักษาได้อย่างทันท่วงทีได้

10. หากำลังใจ
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการได้กำลังใจจากคนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวหรือเพื่อน ล้วนแต่จะช่วยให้มีแรงที่จะต่อสู้กับ โรคความดันโลหิตสูงได้

อ่านต่อบทความที่น่าสนใจได้ที่นี่

15 อาหาร ลดไขมันในเลือด ที่ไม่ควรพลาด

6 ผักผลไม้ที่คนชอบ เป็นตะคริว ควรรู้!

15 อาหารที่มีโฟเลตสูง ที่แม่ท้องและลูกในท้องควรทาน

 

ข้อมูลอ้างอิงจาก : เฟสบุ๊ค อภัยภูเบศร, www.parrythailand.com, medthai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids