AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พาลูก ไหว้พระ 11 วัด ในกทม. ขอพรเสริมสิริมงคลให้ชีวิต

ไหว้พระ 11 วัด

บ้านไหนยังไม่มีแพลนไปเที่ยวหรือกลับบ้านต่างจังหวัด มาชวนลูกสะกิดคุณพ่อไป ไหว้พระ 11 วัด ในกรุงเทพฯ เพื่อขอพร เสริมดวง เสริมความสิริมงคลให้ครอบครัวกันเถอะ!

พาลูก ไหว้พระ 11 วัด ในกทม. ขอพรเสริมสิริมงคลให้ชีวิต

ในช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนถ่ายของปี อย่างช่วงขึ้นปีใหม่ ตรุษจีน และสงกรานต์ หรือช่วงเวลาที่มีความสำคัญต่อครอบครัว หรือแม้แต่ในช่วงเวลาที่เรากำลังทุกข์ใจ หรือกังวลใจ เรามักจะเข้าวัดทำบุญ เพื่อขอพร เสริมดวง เสริมความเป็นสิริมงคล และเพื่อให้จิตใจสงบ มีสมาธิ และสติปัญญาในการดำเนินชีวิต นอกจากนี้ การพาลูกไปไหว้พระ ทำบุญ ทำทาน ยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรม ฝึกความมีวินัย ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความรัก ความเมตตา และกรุณา ให้กับลูก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่สามารถสอนได้ในห้องเรียน ต้องสอนโดยการทำให้เห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น และคุณพ่อคุณแม่ต้องปลูกฝังลูกตั้งแต่เด็ก เพื่อให้ลูกได้มีความฉลาดทางด้านคุณธรรมและจริยธรรม (Moral Quotient) ติดตัวไปจนโต

พาลูกไหว้พระ

ทีมแม่ ABK ขอรวบรวมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้คุณพ่อคุณแม่พาลูก ๆ ไหว้พระ 11 วัด ที่ขึ้นชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ ขอพรสัมฤทธิ์ผล สมดั่งใจหวัง ดังนี้

พาลูก ไหว้พระ 11 วัด ในกทม. แก้ชง เสริมสิริมงคลให้ชีวิต

สถานที่ ไหว้พระ 11 วัด นี้เป็นวัดสำคัญ และยังเป็นสถานที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชองค์ต่าง ๆ ในแผ่นดินรัตนโกสินทร์กว่าสองร้อยปี ซึ่งอยู่ในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์และบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหารและวัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร ยังเป็นสองวัดซึ่งเป็นที่บรรจุพระบรมราชสรีรางคารของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อยู่ใต้ฐานพระประธาน จึงเป็นโอกาสดีที่คุณพ่อคุณแม่จะได้พาลูกน้อยมาสักการะพระบรมราชสรีรางคารของพระองค์ไปในคราวเดียวกัน

“วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร”

วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร เดิมชื่อว่า “วัดสลัก”  ผู้สร้างวัดแห่งนี้ไม่ปรากฏนาม  แต่สันนิษฐานว่ามีมาแต่ครั้งกรุงเก่า(กรุงศรีอยุธยา)  เมื่อสมเด็จพระบวรราชเจ้า มหาสุรสิงหนาท(พระอนุชาธิราชของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่๑) ทรงมาพบวัดนี้แล้ว  ทรงบูรณปฏิสังขรณ์ และทรงสร้างถาวรวัตถุขึ้นมาใหม่ ทรงสถาปนาวัดนี้ขึ้นเป็นพระอารามหลวงแห่งแรก ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ในอดีตเคยเป็นที่ประทับจำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชหลายพระองค์

ถาวรวัตถุที่กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาททรงสร้าง เช่น พระมณฑปเป็นที่ประดิษฐานพระเจดีย์ทองบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระประธานนามว่า “พระศรีสรรเพชญ์” และ “พระอรหันต์ ๘ ทิศ” พระวิหาร พระระเบียงเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ๑๐๘ องค์ (มีการสร้างเสริม ๔ องค์ รวม ๑๑๒ องค์) เป็นต้น

 

“วัดบวรนิเวศวิหาร”

วัดบวรนิเวศวิหาร พระอารามนี้เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชไทยถึง 4 พระองค์ และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาของสงฆ์แห่งแรกในประเทศ และเป็นวัดประจำรัชกาลที่ 6 และ 9 พระประธานในพระอารามนี้มีความแตกต่างจากวัดอื่น ๆ โดยทั่วไป คือ มีพระประธาน 2 องค์ และล้วนมีความสำคัญเนืองจากเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่โบราณ ได้แก่

ประชาชนนิยมไปกราบไหว้หลวงพ่อพระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา พระไพรีพินาศ เพื่อให้มีชีวิตประเสริฐสมกับคำว่า “บวร” คติของวัดนี้  ซึ่งแปลว่า “พบแต่สิ่งดีงามในชีวิต”

 

“วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร”

วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังจากขุดคลองผดุงกรุงเกษมเป็นคูพระนครชั้นนอกแล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้มีวัดเรียงรายอยู่ตามชายคลองเหมือนที่กรุงศรีอยุธยา ในขั้นแรกโปรดเกล้าฯ ให้เรียกชื่อว่าวัดนามบัญญัติ เป็นการชั่วคราวก่อน เมื่อสิ้นรัชกาลจึงค่อยเรียกนามพระราชทานว่าวัดมกุฏกษัตริยาราม อันเป็นนามตามพระปรมาภิไธย

อาคารสำคัญในวัดได้แก่ พระวิหาร และพระอุโบสถ มีลายพระมหามงกุฏอันเป็นตราประจำรัชกาลที่ 4 ทั้งที่หน้าบันและด้านบนของซุ้มประตูหน้าต่างเช่นเดียวกัน ผนังด้านในพระอุโบสถมีภาพจิตรกรรมอันหลากหลายแตกต่างจากวัดอื่น เช่น เรื่องพระสาวกในบาลีและอรรถกถา พระอัครสาวก 11 พระองค์ อัครสาวิกา 8 องค์ ภาพการบำเพ็ญกรรมฐาน สิ่งที่พึ่งปฏิบัติเนื่องด้วยธรรมวินัย ธุดงควัตร บนบานหน้าต่างและบานประตูด้านในเขียนพระสูตรที่เป็นคาถาด้วยตัวอักษรบรรจง เป็นต้น

“วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร”

วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหาร เดิมชื่อ วัดแหลม หรือ วัดไทรทอง ภายหลังได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใหม่ว่า วัดเบญจบพิตร ซึ่งหมายถึง วัดของเจ้านาย ๕ พระองค์ที่ทรงร่วมกันปฏิสังขรณ์วัดแห่งนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างสวนดุสิตขึ้นพระองค์ทรงทำผาติกรรมสถาปนาวัดขึ้นใหม่และพระราชทานามว่า วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม อันหมายถึง วัดของพระเจ้าแผ่นดินรัชกาลที่ ๕ สิ่งก่อสร้างที่สำคัญ ได้แก่ ศาลาสี่สมเด็จ พระที่นั่งทรงธรรม หอระฆังบวรวงศ์ เป็นต้น

วัดนี้เป็นที่นิยมในการไหว้ขอพรในเรื่องของการงาน ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนยศ เลื่อนขั้น หรือเลื่อนตำแหน่ง จะสำเร็จผล

 

“วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร”

วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร เป็นวัดโบราณในสมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อวัดสะแก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และขุดคลองรอบพระอาราม แล้วพระราชทานนามใหม่ว่า วัดสระเกศ ซึ่งแปลว่า ชำระพระเกศา เนื่องจากเคยประทับทำพิธีพระกระยาสนาน เมื่อเสด็จกรีธาทัพกลับจากกัมพูชามาปราบจลาจลในกรุงธนบุรี และเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติใน พ.ศ. 2325

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้บูรณะและสร้างพระบรมบรรพตหรือภูเขาทอง ทรงกำหนดให้เป็นพระปรางค์มีฐานย่อมุมไม้สิบสอง แต่สร้างไม่สำเร็จในรัชกาล เมื่อถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงให้เปลี่ยนแบบเป็นภูเขาก่อพระเจดีย์ไว้บนยอด เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ การก่อสร้างแล้วเสร็จในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระราชทานนามว่า “สุวรรณบรรพต” มีความสูง 77 เมตร บนยอดสุวรรณบรรพตเป็นที่ตั้งของพระเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ขุดค้นพบที่เมืองกบิลพัสดุ์ และพิสูจน์ได้ว่าเป็นของพระสมณโคดมซึ่งเป็นส่วนแบ่งของพระราชวงศ์ศากยราชเพราะมีคำจารึกอยู่ ตามความเชื่อของชาวพุทธ ที่นิยม ไหว้พระบรมสารีริกธาตุ เพื่อให้เกิดสิริมงคลสูงสุดต่อชีวิต วัดสระเกศ จึงเป็นที่นิยมและเป็นสถานที่ที่จะพาลูก ไหว้พระขอพรนั่นเอง

 

“วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร”

วัดสุทัศนเทพวราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ที่มีอยู่เพียงไม่กี่แห่งของประเทศไทย และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในเขตพระนครชั้นใน และอยู่มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า อยู่บริเวณหน้าวัด

วัดสุทัศน์นี้ ประชาชนนิยมเข้าไปไหว้พระประทานในโบสถ์ เพื่อขอพรให้มีสติปัญญาที่ดี มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล รวมไปถึงเรื่องการเรียน การศึกษา และให้มีเสน่ห์กับบุคคลทั่วไปด้วย

 

“วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร”

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรวิหารที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นวัดประจำรัชกาลเมื่อ พ.ศ. 2412 มีลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยกับสถาปัตยกรรมตะวันตก คือ ลักษณะภายนอกเป็นสถาปัตยกรรมไทย ส่วนภายในออกแบบตกแต่งอย่างตะวันตก และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามว่าวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หมายถึง วัดที่พระมหากษัตริย์ทรงสร้าง และมีมหาสีมาอันเป็นเสาศิลาจำหลักยอดเป็นรูปเสมาธรรมจักร 8 เสา ตั้งเป็นสีมาที่กำแพง 8 ทิศ “ราชบพิธ” หมายถึง พระอารามที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสร้าง บพิธ คำนี้มาจากภาษาบาลีคือ ปวิธะ ที่แปลว่าสร้าง ส่วน “สถิตมหาสีมาราม” หมายถึง พระอารามซึ่งมีสีมากว้างใหญ่ เป็นมหาสีมาล้อมรอบอาณาเขตของวัด

 

“วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร”

วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ตามธรรมเนียมประเพณีโบราณที่ว่า ในราชธานีจะต้องมีวัดสำคัญประจำ 3 วัด คือ วัดมหาธาตุ วัดราชบูรณะ วัดราชประดิษฐาน จึงทรงสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้ครบตามโบราณราชประเพณี วัดราชประดิษฐฯ เป็นวัดฝ่ายธรรมยุติกนิกายวัดแรกที่สร้างขึ้นเพื่อพระสงฆ์ในนิกายนี้ เพราะวัดอื่น ๆ ของฝ่ายธรรมยุตเป็นวัดที่แปลงมาจากวัดของมหานิกาย และด้วยเหตุนี้เองวัดแห่งนี้จึงได้รับยกให้เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 4

ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะมีพื้นที่เพียงเล็กน้อย แต่ภายในพระอารามนี้ก็ประกอบไปด้วยปูชนียวัตถุ ปูชนียสถานมากมาย เช่น พระวิหารและพระเจดีย์ที่ฉลุด้วยหินอ่อน ปราสาทพระจอม ปราสาทพระไตรปิฏกทรงขอม และพระที่นั่งทรงธรรมหรือศาลาการเปรียญ ที่เป็นที่ตั้งธรรมาสน์ยอดมงกุฎ และในพระวิหารของวัดก็เป็นที่สถิตของพระประธาน “พระพุทธสิหิงคปฏิมากร” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงให้จำลองจากพระพุทธสิหิงค์องค์จริงที่พระที่นั่งพุทไธสวรรย์

“วัดราชบุรณราชวรวิหาร”

‘วัดราชบุรณราชวรวิหาร’ เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ “วัดเลียบ” วัดเลียบปรากฏอยู่ในหลายเมืองใหญ่ของราชอาณาจักรสยาม ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากวัดตั้งอยู่ใกล้เคียงกับสถานที่สำคัญทางยุทธศาสตร์ สถานที่สำคัญ ๆ ของวัด รวมทั้งพระอุโบสถที่มีภาพจิตรกรรมฝาผนัง ฝีมือขรัวอินโข่ง จึงถูกระเบิดทำลายจนหมด ปัจจุบันวัดราชบุรณะได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ใหม่ทั้งหมด

“วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์)”

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และเป็นวัดประจำรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทั้งยังเปรียบเสมือนเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศด้วย เนื่องจากเป็นที่รวมจารึกสรรพวิชาหลายแขนง และทางยูเนสโกได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำโลกของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เมื่อ มีนาคม พ.ศ. 2551 และวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทางยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนจารึกวัดโพธิ์จำนวน 1,440 ชิ้น เป็นมรดกความทรงจำโลกในทะเบียนนานาชาติ

วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหารถือได้ว่าเป็นวัดที่มีพระเจดีย์มากที่สุดในประเทศไทย โดยมีจำนวนประมาณ 99 องค์ พระเจดีย์ที่สำคัญ คือ พระมหาเจดีย์สี่รัชกาล ซึ่งเป็นพระมหาเจดีย์ประจำพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ในแง่ของการท่องเที่ยวแล้ว วัดโพธิ์ได้รับความนิยมเที่ยวเป็นลำดับที่ 24 ของโลก ในปี พ.ศ. 2549 โดยมีนักท่องเที่ยวมาเยือนในปีนั้นถึง 8,155,000 คน

โบราณเชื่อว่า การไปไหว้พระนอนวัดโพธิ์ ส่งผลให้อยู่ดีกินดีตลอดปี เหมือนมีร่มโพธิ์ ร่มไทรปกปักรักษา หรือจะไปไหว้ขอความสุข และความมั่งมี ก็ได้เช่นกัน

 

“วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร”

วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร วัดแห่งนี้เป็นวัดโบราณ สร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่) ซึ่งต่อมาได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ 5 ลูก

วัดระฆังโฆสิตารามมีหอพระไตรปิฎกซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงามมาก เคยเป็นพระตำหนักและหอประทับนั่งของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงามเพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก

ไหว้พระ 11 วัด

อย่างไรก็ดีการพาลูกเที่ยว แบบเข้าวัด ไหว้พระ 11 วัด หรือกี่วัดก็ตาม ถือเป็นการปลูกฝังให้ลูกน้อยได้รับทั้งคุณธรรม จริยธรรม จะเป็นการฝึกฝนในรูปแบบสร้างจิตสำนึกแบบไม่รู้ตัว ควบคู่กับการทำให้ลูกน้อยรู้จักเข้าสังคมอีกด้วย ทั้งนี้หากถึงวันที่พ่อแม่ว่าง หรือเป็นวันหยุดจากการทำงาน คุณพ่อคุณแม่พาลูกน้อยเข้าวัดทำบุญ ปล่อยนก ปล่อยปลา หรืออาจจะพาไปทำบุญในรูปแบบอื่น ๆ เช่น เลี้ยงข้าวกลางวันบ้านเด็กกำพร้าฯ ก็ถือเป็นการปลูกฝังคุณธรรมให้เขาไปในตัว และหากทำสิ่งดี ๆ เหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ทำเป็นประจำ และมีคุณพ่อคุณแม่เป็นตัวอย่างที่ดีแล้วล่ะก็  เชื่อเถอะว่าลูกน้อยของคุณจะเติบโตขึ้นมา เป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมคนหนึ่งเลยก็ว่าได้

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก!

ค่านิยมทาง “ศีลธรรม” 10 ประการที่พ่อแม่ควรสอนลูก

ชวนมาเก็บ MQ ให้ลูกใน สนามเด็กเล่น กันเถอะ!!

สอนลูกฉลาดทำบุญ 16 วิธี ทำบุญโดยไม่ต้องไปวัด!

ปักหมุด 6 ที่เที่ยวในกรุงเทพฯ พาลูกเที่ยว ใกล้แค่นี้ก็ฟินได้

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : th.wikipedia.org, สำนักพัฒนาการประชาสัมพันธ์, วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์, horoscope.mthai.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids