AMARIN Baby And Kids – เพื่อลูกฉลาดและมีความสุข

พาลูกไปปฏิบัติธรรม

พาลูกไปปฏิบัติธรรม เริ่มได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่

ผู้เขียนเคยได้ยินคุณพ่อคุณแม่หลายคนที่สนใจธรรมะถามกันว่า ถ้าจะ พาลูกไปปฏิบัติธรรม ควรจะเริ่มตั้งแต่อายุเท่าไหร่ดี เพราะมีคอร์สสำหรับเยาวชนมากมายหลายแห่งทั่วประเทศ ผู้เขียนเองก็สนใจเรื่องนี้ และเคยได้ยินท่านโกเอ็นก้า วิปัสสนาจารย์ที่ผู้เขียนปฏิบัติตามแนวทางของท่านมาหลายปี บอกไว้ว่าอายุที่มนุษย์เริ่มปฏิบัติธรรมได้ ก็คือตั้งแต่อยู่ในท้องแม่!

 

ผู้เขียนจำเรื่องนี้ได้ดีตั้งแต่ยังไม่ได้แต่งงานและตั้งใจแน่วแน่ว่าถ้ามีลูก จะพาไปฟังธรรมด้วยกันตั้งแต่อยู่ในท้องอย่างที่ได้ยินมา จนกระทั่งพบกับสามี และตั้งท้องลูกคนแรก ก็ได้ไปจริงๆ และเป็นการไปแบบไม่ทันได้ตั้งตัวด้วย เพราะตอนนั้นผู้เขียนกำลังจะไปเข้าคอร์สวิปัสสนา 20 วันที่แคลิฟอร์เนียและไปพักบ้านเพื่อนที่นั่น 2-3 วันก่อนที่จะไปศูนย์แล้วก็ได้รู้ตอนนั้นเองว่าท้อง สามีก็อยู่อีกรัฐหนึ่ง ได้แต่โทรศัพท์ไปบอก แล้วก็หายเข้าคอร์สไปเลย 20 วันไม่ได้พูดคุยกันจนกระทั่งจบคอร์สออกมาแล้วนั่นละ ถึงได้โทรไปหาอีกครั้ง สิ่งแรกที่สามีถามก็คือ “ตกลงยูยังท้องอยู่หรือเปล่า” ตลกดีจริงๆ

 

สิ่งที่ผู้เขียนได้เรียนรู้มากที่สุดจากการอุ้มท้องไปปฏิบัติธรรมแบบปิดวาจา 20 วันนั้นก็คือ ลูกนั้นมีชีวิตจิตใจเป็นของตนเอง เราไม่สามารถจะไปบังคับควบคุมเขาได้อย่างแท้จริง แม่(และพ่อ)เพียงมีหน้าที่ให้โอกาสในการเกิด ดูแลให้เขาแข็งแรงปลอดภัย และให้การเลี้ยงดูอย่างดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ แต่ทั้งกายและใจของลูกนั้นเป็นของเขาเองโดยสมบูรณ์ ผู้เขียนได้แต่เฝ้าสังเกตและรับรู้ถึงการเคลื่อนไหว (ซึ่งแน่นอนว่าใน 20 วันนั้นยังไม่เกิดขึ้น) และเฝ้ารอให้เขาออกมาลืมตาดูโลกวุ่นๆ ใบนี้ด้วยตัวของเขาเอง

ผู้เขียนนำข้อสังเกตนี้ไปคุยกับอาจารย์ที่สอนคอร์สนั้น แล้วก็ได้รับรอยยิ้มยืนยันว่านั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่คิดไปเองหรือเพราะได้ยินคนอื่นบอกกันมา ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่าการได้เกิดปัญญาจากประสบการณ์ตรงแบบนั้นมันทำให้เรามีข้อเตือนใจตัวเองอยู่เสมอ แม้เวลาจะผ่านมาหลายปี แต่ทุกวันนี้ผู้เขียนก็ยังจะได้ถึงช่วงเวลาที่เกิดความคิดดังกล่าว และคงจะได้ระลึกถึงอยู่เสมอในยามที่คิดถึงหรืออยู่กับลูกอีก

สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนคิดว่าได้ประโยชน์มากจากการไปปฏิบัติธรรมตั้งแต่ยังท้อง ก็คือการเตรียมความพร้อมให้กับตัวเอง เพราะการที่คนคนหนึ่งจะก้าวข้ามจากความเป็นคนโสดกลายไปเป็นแม่ (หรือพ่อ) คนนั้น ต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลและประสบการณ์ชีวิตมากมายหลายอย่าง ทั้งความเปลี่ยนแปลงและความอึดอัดไม่สบายกายที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ ทั้งความเจ็บปวดทรมานในระหว่างคลอดลูก และความเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้นหลังจากลูกคลอดออกมาแล้ว เพราะฉะนั้นการเรียนรู้ที่จะเป็นผู้เฝ้าดูและสังเกตโดยไม่ตัดสิน ความเข้มแข็งทางกายและใจต่อความเปลี่ยนแปลง ความเจ็บปวด ความยากลำบาก และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับชีวิต รวมทั้งความมีใจเป็นกลาง ไม่เหนี่ยวรั้งอยากให้สิ่งต่างๆ เป็นอย่างที่เราต้องการ หรือรังเกียจเดียดฉันท์ โกรธขึ้ง ผลักดันสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา ย่อมมีคุณอนันต์ต่อการเป็นพ่อแม่คน ในระหว่างที่นั่งปฏิบัติธรรมชั่วโมงอธิษฐาน (ซึ่งจะต้องไม่เปลี่ยนท่านั่งและไม่ลืมตาตลอด 1 ชั่วโมง)และบางครั้งเจ็บปวดทรมานแสนสาหัสนั้น ผู้เขียนก็เหมือนได้เรียนรู้วิธีที่จะรับมือกับสิ่งกระทบรุนแรง และได้รู้จักตัวเองว่าในเวลาคับขันอย่างนั้น ใจของเราเป็นอย่างไร อยากหนี อยากสู้ หรืออยากอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรรอให้มันหายเอง (คือจริงๆ แล้วเป็นทุกอย่างที่พูดมา)

 

จบจากคอร์ส 20 วันนั้น ผู้เขียนเลยไปเป็นธรรมบริกรอีก 1 คอร์ส และไปเข้าคอร์สสติปัฎฐานอีก 1 คอร์สระหว่างนั้นก็ปฏิบัติทุกเช้าเย็น ใครบอกว่าให้เปิดโมสาร์ทให้ลูกฟังจะได้ฉลาด แต่ผู้เขียนเลือกเปิดบทสวดมนต์ให้พุงกลมๆฟังแทน ด้วยหวังว่าคลอดออกมาจะได้ใช้เป็นเพลงขับกล่อมได้ด้วย ใครๆ ที่ได้เห็นต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเด็กคนนี้เกิดออกมาจะต้องเป็นเด็กสงบมีธรรมะ ไม่งอแง เลี้ยงง่ายแน่นอน

ผลที่ได้เหรอคะ… เด็กหญิงเมตตาเกิดออกมาลืมตาแป๋วและร้องไห้หนักมาก! ถ้ามีสเกลความเลี้ยงยากเลี้ยงง่ายไล่จากศูนย์ไปสิบนี่ ผู้เขียนคิดว่าเมตตาต้องทำลายสถิติทะลุไปถึงไหนต่อไหน สามเดือนแรกนี่ไม่ต้องพูดถึง คือพ่อแม่ไม่ได้นอนเพราะเมตตาร้องไห้ ต้องอุ้มกล่อมตลอดเวลาทั้งกลางวันกลางคืน เปิดบทสวดมนต์ให้ก็ไม่ได้ผลอะไรทั้งสิ้น จนตอนนี้ผ่านไปเกือบสามปี หนูน้อยคนสวยของเราก็ยังโยเยโวยวายได้โล่

แต่สิ่งที่ทำให้ผู้เขียนได้ชื่นใจก็คือ ลูกเป็นคนอ่อนโยนและรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา สนใจความรู้สึกของผู้อื่น มีเวลาที่อ่อนหวานมากๆ จนพ่อแม่ต้องละลาย มีเวลาที่กลายเป็นเด็กตลกจนเราต้องขำกลิ้ง และวันดีคืนดีก็นั่งลงขัดสมาธิหลับตาวางมือประสานกัน แล้วบอกว่า ‘I’m meditating!’ บนเบาะนั่งสมาธิของเรา ตั้งแต่ยังอายุได้แค่สองขวบครึ่ง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเห็นพ่อกับแม่นั่งทุกวันจึงได้ทำตาม และอีกส่วนหนึ่งผู้เขียนก็เชื่อมากๆ ว่าคงเพราะจิตของเขามุ่งมั่นมาทางนี้ จึงได้มาเกิดกับพ่อแม่ที่ฝักใฝ่ธรรมะ เพราะรู้ว่าจะได้รับการส่งเสริมต่อไปในชาติภพนี้ สำหรับลูกคนต่อมาซึ่งยังอยู่ในท้อง ผู้เขียนเลยพาไปปฏิบัติธรรมมาแล้ว 10 วัน ก็คงต้องมาดูกันต่อไปว่าจิตดวงนี้จะแตกต่างจากจิตของหนูเมตตาผู้พี่อย่างไรบ้าง

ถ้ามีว่าที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ อ่านบทความนี้แล้วเกิดความสนใจ อยากไปปฏิบัติบ้าง ผู้เขียนก็ขออนุโมทนาล่วงหน้านะคะ เพราะดูแลร่างกายอย่างดีคงไม่พอ ต้องดูแลจิตใจให้เข้มแข็งและมีสุขภาพที่ดีด้วยเช่นเดียวกันค่ะ

www.thai.dhamma.org__

 

เรื่อง : สิริยากร พุกกะเวส มาร์ควอร์ท
ภาพ : Shutterstock