
รับมือแบบวิน-วิน เตาะแตะหัวฟัดหัวเหวี่ยง
ส่วนใหญ่เวลาลูกเตาะแตะฟาดหัวฟาดหาง พ่อแม่มักอยากรู้เพียงว่าทำไมลูกวัยนี้ถึงเอาแต่ใจนัก และขอวิธีหยุด แบบไม่ให้เกิดอีกเลย (จะได้ไหม) แต่คุณเคยรู้ไหม ในใจลูกน้อยคิดอะไรอยู่ตอนเขาแสดงอภินิหาร และเพราะอะไรวิธีรับมือของคุณถึงไม่ได้ผลและวิธีแบบไหนถึงจะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่ายเรามีคำแนะนำและคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ ที่จะซับน้ำตาให้แม่ๆ ลูกๆ ได้บ้าง
รู้จักวงจรโกรธเกรี้ยวของเด็กน้อย
1. คุกรุ่น และพุ่งปรี๊ดได้รวดเร็ว (น้ำตา เสียงร้อง ท่าทางเตรียมปะทุพร้อมกันได้ทุกเวลา)
“พฤติกรรมโมโหโกรธาของเด็กวัยเตาะแตะมักเปิดฉากเร็ว หากคุณจับอารมณ์ลูกไม่ทันตั้งแต่ตอน 2-3 นาทีแรกที่เริ่มกรุ่นๆ และรีบดับเสียก่อน เมื่อเข้าสู่โหมดอารมณ์โกรธแล้ว เด็กวัยนี้มักจะแสดงความโกรธออกมาทางกาย เช่น กรีดร้อง ดิ้น ขืนตัว เขวี้ยงปาข้าวของ ตี ฯลฯ” คุณหมอไมเคิล โพเทกัล กุมารแพทย์ด้านจิตประสาท แห่งมหาวิทยาลัยมินเนโซตา และคุณหมอ เจมส์ เอ กรีน ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยคอนเนคติกัต อธิบาย
คุณหมอทั้งสองให้หนูน้อยวัยเตาะแตะสวมชุดที่มีไมโครโฟนติดอยู่ และทำการบันทึกพฤติกรรมการงอแงกว่า 100 ครั้ง พบว่า เสียงกรีดร้องงอแงที่ดังที่สุดจะเท่ากับเสียงแตรรถที่บีบกันในชั่วโมงเร่งด่วนเลยทีเดียว
2. โกรธอยู่และเศร้า (ร้องไห้+สะอึกสะอื้น)
จากการวิเคราะห์วิดีโอพฤติกรรมงอแงของเด็กวัยเตาะแตะ คุณหมอกรีนและคุณหมอโพเทกัล พบว่า หลังจากความโกรธจัด แล้วเด็กจะเศร้าต่อเนื่องไปด้วยกัน ซึ่งแสดงออกด้วยการร้องไห้ สะอึกสะอื้น แต่ท่าทีลีลาการแผลงฤทธิ์เป็นที่เข้าตามากกว่า คุณหมอโพเทกัลอธิบายว่า “คุณพ่อคุณแม่สังเกตให้ดี จะเห็นว่าที่จริงแล้วเวลาลูกโกรธและร้องไห้ เขาจะสะอึกสะอื้นตั้งแต่เริ่มไปจนจบเลย”
ถึงตอนนี้เรียกว่าระดับความโกรธลดลง แต่ก็ยังถือว่ามีท่าทีโกรธอยู่ จึงยังไม่ใช่เวลาเข้าไปปลอบ รอให้ลูกเย็นลงก่อน เพราะความโกรธจะบดบังความพร้อมที่จะได้รับการปลอบประโลม
“เมื่อเราไปอุ้มลูกที่กำลังโมโห เขาจะแอ่นหรือขืนตัว ทำตัวแข็ง” คุณหมอโพเทกัลให้ข้อสังเกต “เพราะความโกรธปิดกั้นไม่ให้เด็กๆ ยอมรับการปลอบประโลม” (ลองนึกถึงการสะบัดไม่ให้สัมผัสโดนเนื้อตัวกันตอนที่ผู้ใหญ่โกรธกัน หรือเวลาที่ไปกอดปลอบใจหลังโกรธกันแล้วอีกฝ่ายยืนนิ่งตัวแข็งดูก็ได้)
3. พายุสงบ
แม้ขณะที่พายุอารมณ์ของลูกกำลังโหม แต่ลูกก็ยังต้องการคนอยู่ข้างๆ เขา เพราะเมื่ออาการโกรธเกรี้ยวและสะอึกสะอื้นสงบลง เด็กๆ จะพร้อมสำหรับการปลอบ นั่นก็เพราะเด็กๆ จะรู้สึกไม่ดีที่เขาควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงต้องการการกอดและจูจุ๊บปลอบใจ ถึงเขาจะยังไม่อยากดีด้วยนักหรอก แต่การปลอบใจเป็นการแสดงออกของพ่อแม่ที่ยอมรับเขา ยอมรับว่ามันน่าโมโห แต่ตอนนี้มันจบแล้ว” คุณหมอคลอเดีย เอ็ม โกลด์ ผู้อำนวยการโครงการอารมณ์สังคมของเด็กปฐมวัย โรงพยาบาลนิวตันเวส์ลีย์ สรุป
4. เปลี่ยนโหมดฉับพลัน
“เพราะเด็กเปลี่ยนอารมณ์และท่าทีได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องปกติที่หลังจากการแสดงอภินิหารจบไปแล้ว พ่อแม่ยังไม่ทันจะหายเคืองเลย แต่ลูกกลับเปลี่ยนโหมดไปนั่งเล่นต่อบล็อคอย่างเพลินใจไปแล้ว นั่นเป็นเพราะอารมณ์ของเด็กเปลี่ยนแปลงได้ง่าย หรือมีการปรับเปลี่ยนได้เสมอนั่นเอง” คุณหมอโพเทกัลอธิบาย