บัตรทองให้เข้าถึงยา โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
คุณพ่อคุณแม่อาจเคยได้ยินโรคข้ออักเสบเรื้อรัง (หรือโรครูมาตอยด์) แต่อาจไม่ทราบว่าโรคนี้สามารถพบในเด็กเล็กได้อีกด้วย เรียกว่า โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก ซึ่งที่ผ่านมาเด็กที่เป็นโรคนี้มีโอกาสเข้าถึงยาได้ไม่มากนัก แต่ล่าสุดทางสปสช. ได้ให้สิทธิบัตรทองเข้าถึงยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก (Systemic Juvenile Idiopathic Arthritis: SJIA) ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสมให้แก่เด็กจำนวนมากค่ะ
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
“โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก” เป็นผลมาจากการที่ภูมิคุ้มกันทำร้ายตัวเองหรือภูมิคุ้มกันทำงานเกิน จนทำให้เกิดข้ออักเสบในเด็ก
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับข้อทุกส่วนของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นข้อมือ ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก กระดูกคอ รวมถึงขากรรไกร โดยโรคนี้ยังแบ่งประเภทย่อยได้อีก 7 ชนิด หนึ่งในนั้นคือ โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก (Systemic Juvenile Idiopathic Arthritis: SJIA)
สถิติการเกิดโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
- ในต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 0.3 – 0.8 ต่อประชากร 100,000 คน
- ส่วนในประเทศไทยสูงกว่าประเทศในแถบยุโรปหรืออเมริกา อีกทั้ง โรคนี้ยังเกิดขึ้นได้ในเด็กอายุเพียง 7-8 เดือนไปจนถึง 16 ปี อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกในประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 5 ขวบ
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
สาเหตุของ โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก
โรคนี้เป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคแน่ชัด แต่ปัจจุบันเชื่อว่าเกิดจากสารพันธุกรรมบางอย่างที่ผิดปกติ
อาการของโรค
การอักเสบสามารถเกิดขึ้นได้เองหรืออาจได้รับการกระตุ้นด้วยปัจจัยบางประการ เช่น ภาวะติดเชื้อ โดยอาการแสดงหลัก ได้แก่ ไข้สูงอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ร่วมกับอาการข้ออักเสบ อาจมีผื่นแดงเวลาไข้ขึ้นและผื่นหายเวลาไข้ลง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับม้ามโต เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ
ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคบางคนมีไข้สูงอย่างเดียวในตอนแรก แต่กลับแสดงอาการข้ออักเสบในภายหลัง จึงทำให้การวินิจฉัยกินเวลาพอสมควร
แม้โรคนี้จะมีโอกาสพบไม่บ่อยนัก แต่อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตหรือพิการได้หากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาล่าช้า ”
รูปแบบของโรค
โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกมีรูปแบบการดำเนินโรค 3 ลักษณะ ได้แก่
- แบบแรก แสดงอาการครั้งเดียวแล้วไม่กลับมาเป็นอีกหรือเรียกว่า โมโนเฟสซิส (monophasis)
- แบบที่สอง ผู้ป่วยที่เคยหายจากโรคแล้วกลับมาเป็นซ้ำอีกครั้งหรือเรียกว่า โพลีไซคลิก (polycyclic)
- แบบสุดท้าย คือมีการอักเสบเรื้อรังอยู่ตลอดเวลา ปราศจากระยะโรคที่สงบลงเลย (persistent)
แนวทางการรักษาโรค
แนวทางการรักษานั้น แพทย์มักเริ่มจาก
- การให้ยาสเตียรอยด์ในปริมาณสูง
- แต่จะมีผู้ป่วยบางกลุ่มที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์ก็จะพิจารณาให้ใช้ยากดภูมิต้านทานอื่นๆ รวมถึงยามุ่งเป้าแทน
- นอกจากยาที่ใช้ในประเทศไทยแล้ว ยังมียากลุ่มอื่นที่ยังไม่เข้าประเทศไทยอีกด้วย
- ส่วนระยะเวลาในการรักษา ที่ผ่านมาพบว่าสามารถรักษาผู้ป่วยเด็กให้หายได้เร็วสุดภายในระยะเวลา 6 เดือน – 1 ปี ในขณะที่ ผู้ป่วยบางรายแม้จะผ่านการรักษามาเกือบ 10 ปีแล้ว แต่ก็ยังหยุดยาไม่ได้
ยาที่ใช้รักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก
ต้องพิจารณาว่าผู้ป่วยมีอาการทางซิสเต็มมิกเด่น เช่น ไข้สูง ผื่น เยื่อหุ้มปอดหรือเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ หรืออาการข้ออักเสบเด่น ถ้าอาการทางซิสเต็มมิกเด่น แพทย์จะให้ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ยาไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือ นาพรอกเซน (naproxen)
หากผู้ป่วยอาการยังไม่ดีขึ้น ก็จะใช้ยาในกลุ่มสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน (prednisolone) ซึ่งถือว่าเป็นยาที่มีผลข้างเคียงกับผู้ป่วยเด็กค่อนข้างมาก
ผลข้างเคียงหากเด็กใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์
ยากลุ่มสเตียรอยด์ยังมีผลข้างเคียงหากใช้เป็นเวลานาน เช่น
- ทำให้เด็กสูงช้าลง
- เพิ่มความอยากอาหาร
- ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม
- หน้ากลม
- มีขนตามตัวเยอะขึ้น
- รวมทั้งเกิดภาวะการติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
สปสช. มอบสิทธิเข้าถึงยารักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก
ยาที่นิยมใช้ในประเทศไทยเพื่อรักษาโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิก ได้แก่ ยาโทซิลิซูแมบ ยาชนิดนี้ทำหน้าที่ยับยั้งโปรตีนที่ทำให้เกิดการอักเสบโดยตรง ผลข้างเคียงจึงน้อยกว่ายากลุ่มสเตียรอยด์ และออกฤทธิ์ได้เร็วกว่ายากดภูมิคุ้มกันขั้นพื้นฐาน หากผู้ป่วยได้รับยาดังกล่าวภายใน 6 เดือนหลังจากการวินิจฉัย ผู้ป่วยราวครึ่งหนึ่งสามารถหายขาดและหยุดยาได้ ภายในระยะเวลาเฉลี่ยประมาณปีครึ่ง
ฉะนั้น ผู้ป่วยโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกที่ใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงสามารถเข้าถึงยาดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน โดยในขั้นแรกของการรักษา แพทย์จะให้ยาโทซิลิซูแมบเป็นเวลา 21 เดือน และมีการเก็บข้อมูลติดตามผลการรักษาอย่างใกล้ชิดว่า ในกรณีผู้ป่วยเข้าถึงยาได้อย่างรวดเร็วจะสามารถหยุดยาได้ภายใน 21 เดือนหรือไม่ เพื่อนำข้อมูลนี้ไปพัฒนาหรือแก้ไขปรับปรุงแนวทางการรักษาต่อไปในอนาคต
หากผู้ป่วยที่เป็นโรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็กชนิดซิสเต็มมิกมีโอกาสเข้าถึงแนวทางการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที โรคนี้ก็มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ ทั้งยังช่วยให้ผู้ป่วยเด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ช่วยลดผลข้างเคียงจากการได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นระยะเวลานาน และลดแนวโน้มที่จะเกิดความพิการในผู้ป่วยเด็กได้อีกด้วยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
บ้านเมือง
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
เมื่อลูกเป็น มะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็ก ควรดูแลอย่างไร
ศีรษะทารกแรกเกิด มีแผลอย่ารีบโวยอาจไม่ใช่จากการทำคลอด
หมอเตือน! เด็กติดโรคโควิด ทำลายสมอง เสี่ยงเสียชีวิต