
เด็กทำความผิด ใครมีหน้าที่รับผิดชอบ?
เด็กทำผิดกฎหมาย ใครมีหน้าที่รับผิดชอบ?
หลายท่านคงเคยอ่านข่าวเด็กนักเรียนยกพวกตีกันมาบ้างนะครับ ซึ่งในที่เกิดเหตุจะมีเด็กนักเรียนได้รับบาดเจ็บทั้งสองฝ่าย หรือในเหตุการณ์ที่เด็กนำรถของบิดามารดาไปขับชนรถของผู้อื่นจนเกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สิน ร่างกาย และชีวิต ผมจึงขอกล่าวถึงหน้าที่ของบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งนอกจากบิดามารดาจะมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาแก่บุตรแล้ว หาก เด็กทำผิดกฎหมาย บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมาย ยังต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในความเสียหายทางละเมิดหรือค่าเสียหาย ที่เด็กได้กระทำต่อผู้อื่นด้วย
เมื่อ เด็กทำผิดกฎหมาย กระทำความผิดทางอาญา เด็กจะต้องถูกดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัวต่อไป โดยบิดามารดา ไม่ต้องร่วมรับผิดในทางอาญาด้วย ส่วนความรับผิดต่อค่าเสียหายในทางแพ่งนั้น กฎหมายกำหนดให้บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายจะต้องรับผิดชอบแทนเด็ก เนื่องจากเด็กไม่มีรายได้ที่จะสามารถนำมาชำระค่าเสียหายให้แก่ผู้เสียหายได้ และกฎหมายต้องการให้บิดามารดา คอยควบคุม ดูแล อบรมเด็ก ให้เป็นคนดี ไม่ให้เป็นภาระของสังคม กฎหมายจึงกำหนดให้บิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เด็กก่อให้เกิดขึ้น กล่าวคือ
ตามประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
มาตรา ๔๒๙ บุคคลใดแม้ไร้ความสามารถเพราะเหตุเป็นผู้เยาว์ หรือวิกลจริต ก็ยังต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด บิดามารดาหรือผู้อนุบาลของบุคคลเช่นว่านี้ย่อมต้องรับผิดร่วมกับเขาด้วย เว้นแต่ จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล ซึ่งทำอยู่นั้น
แต่ในส่วนของบิดา เมื่อมิได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา บิดาย่อมเป็นบิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของบุตร ดังนั้น จึงไม่สามารถนำบทบังคับตามมาตรา ๔๒๙ มาใช้บังคับให้บิดาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นร่วมรับผิดกับเด็กได้ เนื่องจาก คำว่า บิดา ตามมาตรา ๔๒๙ ดังกล่าว จะต้องเป็นเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายมีช่องว่างเกิดขึ้น ทำให้เกิดความไม่ยุติธรรมระหว่างบิดามารดาดังกล่าวข้างต้น และยังมีผลต่อค่าเสียหายของผู้อื่นด้วย หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมาจริงๆ อาจจะต้องยื่นให้ศาลฎีกาวินิจฉัย และปรึกษาทนายผู้เชี่ยวชาญครับ
อ่านต่อ บทความน่าสนใจ
แบ่งทรัพย์สินอย่างไร หากไม่ได้จดทะเบียนสมรส
คุณแม่ควรรู้ไว้!! ประโยชน์ของทะเบียนสมรสที่คุณอาจไม่เคยรู้
เรื่อง คุณนิติธร แก้วโต ทนายความที่ปรึกษาทางกฎหมาย และคุณพ่อลูกสอง