Kid safety – โรงเรียนลูกยัง “ปลอดภัย” อยู่ไหม!?

โรงเรียนคือ “บ้านที่สอง” ของเด็กๆ ที่คุณพ่อคุณแม่เชื่อมั่นว่าลูกจะต้องมีความสุขและปลอดภัย แต่…ก็มีเหตุร้ายเกิดขึ้นถี่ๆ จนทำให้พ่อแม่ และสังคมเกิดคำถามด้วยความคับข้องใจว่า….ลูกเราไม่ได้กำลังเรียนอยู่ในโรงเรียน “อันตราย” แน่หรือ?

เฉพาะเดือนสิงหาคมปี 2558 นี้ ได้เกิดเหตุร้ายระดับ“พาดหัวข่าว” ที่ทำให้เด็กนักเรียนต้องสาหัสและเสียชีวิต ถึง 4 ราย (หากรวมเดือนกรกฎาคมด้วยก็จะเป็น 5 ราย)

  • เด็ก 4 ขวบ ถูกเชือกที่นอนในศูนย์เด็กเล็กรัดคอ (พัทยา)
  • ประตูรั้วเหล็กของศูนย์เด็กเล็ก ล้มทับเด็ก 2 ขวบ อาการสาหัส (ระนอง)
  • สลด! เด็กอนุบาลถูกป้ายเหล็กในโรงเรียนล้มทับเสียชีวิต  (สระบุรี)
  • รถสองแถวรับส่งนักเรียนชนท้าย 10 ล้อจอดเสียข้างทาง เด็กตาย 1  เจ็บนับสิบ (นครปฐม)
  • ลืมอีกแล้ว! เด็ก 4 ขวบตายคารถรับส่งนักเรียน (นครศรีธรรมราช)

ย้อนกลับไปในปีที่ผ่านๆ มา ยิ่งทบทวนเหตุร้ายก็ให้ยิ่งขวัญผวา…เด็กนักเรียนตกตึก… ประตูเหล็กล้มทับ …เด็กเล็กตกหม้อข้าวต้มเดือดๆ…. มีคนข่มขืนเด็กในห้องน้ำ และ …คนเป็นโรคจิตถือมีดวิ่งไล่แทงนักเรียน!

“ความปลอดภัย” สิทธิพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องได้รับ

จริงๆแล้วเราควรมีข้อกำหนดความปลอดภัยขั้นต่ำซึ่งทุกโรงเรียนต้องทำได้ เพราะถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านความปลอดภัยที่เด็กทุกคนต้องได้รับเท่าๆกัน ไม่ว่าโรงเรียนขนาดใหญ่หรือขนาดเล็ก โรงเรียนบริการคนรวยหรือจน โรงเรียนที่ทำได้ต่ำกว่าเกณฑ์นี้ถือว่าเป็นโรงเรียนอันตราย

“พลังพ่อแม่” ช่วยลูกปลอดภัยดีที่สุด

“หากพ่อแม่รวมตัวกัน สำรวจจุดเสี่ยง ลงความเห็นร่วมกันแล้วแน่ชัดว่ามีจุดเสี่ยงที่ไม่ใช่ความกังวลเกินเหตุ และรายงานครู ผู้บริหารโรงเรียน เขตการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ และขึ้นบัญชีประกาศไว้ว่าเป็นโรงเรียนอันตรายจนกว่าจะมีการแก้ไข เป็นวิธีที่จะสร้างความปลอดภัยให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้ดีที่สุด”

ความปลอดภัยขั้นต่ำที่โรงเรียนไม่ควรละเลย

พ่อแม่ควรไปกันเป็นกลุ่มๆ สองสามเดือนครั้ง เดินสำรวจโรงเรียนของลูกมองหาว่ามีจุดเสี่ยงดังต่อไปนี้หรือไม่

1. ละเลยบุคคลแปลกหน้า

ปล่อยให้พวกเขาเดินเข้าเดินออกโรงเรียนได้อย่างเสรี โดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ

2. ไม่มีความปลอดภัยภายนอกอาคาร

อันตรายที่พบได้บ่อย ได้แก่ อุบัติเหตุรถชน จมน้ำ เครื่องเล่นสนามและของหนักอื่นๆ เช่นประตูรั้ว แป้นบาสเกตบอล เสาฟุตบอลล้มทับ รวมถึงอันตรายจากแมลงและสัตว์

2.1 ที่หน้าโรงเรียน

ทุกเช้าพบเห็นว่าเด็กบางคนนั่งมอเตอร์ไซด์มาโรงเรียนโดยไม่ใส่หมวกนิรภัย เด็กบางคนขี่มอเตอร์ไซด์มาเอง แต่ไม่มีครูตักเตือนหรือบอกผู้ขับขี่ที่มาส่งเลย ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่เองหรือมอเตอร์ไซด์รับจ้างเพราะนี่คืออันตรายจากการเดินทางมาโรงเรียน เป็นการเดินทางที่ผิดกฎหมายที่ใครๆก็รู้ หากเรื่องนี้ครูละเลยแล้ว เรื่องความปลอดภัยอื่นครูจะสนใจได้อย่างไร

2.2 ปล่อยให้รถยนต์แล่นเข้ามาในโรงเรียน

โดยไม่แยกโซนสัญจรกับโซนพื้นที่เด็ก ซึ่งทำให้พื้นที่เล่นของเด็กเป็นพื้นที่เสี่ยง (ขับรถมาส่งหลานในโรงเรียน จู่ๆ รถดับจึงพยายามเข็นรถ แต่เกียร์ล็อค จึงไขกุญแจสตาร์ทเครื่องยนต์ ทำให้รถพุ่งเข้าชนกลุ่มนักเรียน เสียชีวิต 1 บาดเจ็บ 3 – ข่าว 7 ก.ค. 2554 )

2.3 มีแหล่งน้ำ

ทั้งภายในโรงเรียน (เช่น สระว่ายน้ำ สระขุด บ่อน้ำเลี้ยงปลาโอ่งหรือตุ่มขนาดใหญ่ ฯลฯ) หรือสถานที่ใกล้เคียง (เช่น บ่อน้ำใช้ ลำคลอง ฯลฯ) โดยไม่มีรั้วกั้นเด็กออกจากแหล่งน้ำและไม่มีป้ายเตือน

2.4 สนามเด็กเล่นไม่ปลอดภัย

พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าสนามเด็กเล่นอันตรายหรือไม่

ขั้นแรก ให้ก้มลงมองที่พื้นสนามเด็กเล่น ถ้าเป็นพื้นแข็ง เช่น ซีเมนต์ ยางมะตอย อิฐสนาม ทราย หรือก้อนกรวดอัดแข็ง แทนที่จะใช้วัสดุปูพื้นที่หนานุ่มและดูดซับพลังงานได้ดี เช่น เป็นพื้นสังเคราะห์ หรือพื้นทราย ถือว่าอันตราย

ขั้นที่สอง ดูว่าเครื่องเล่นได้ถูกยึดติดฐานรากหรือลอยตัว ถ้าไม่ยึดติดฐานรากให้มั่นคง เวลาเด็กเล่นแรงๆ แล้วมีโอกาสล้มคว่ำได้ ถือว่าอันตรายสองข้อใหญ่ นี้ถ้าไม่ผ่านข้อใดข้อหนึ่งก็จัดให้เป็นสนามเด็กเล่นอันตรายได้แล้ว

2.5 สิ่งของขนาดใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่มั่นคง

เสาเหล็ก-เสาฟุตบอล-แป้นบาสเกตบอล-ป้ายใหญ่ และ ประตูรั้วเหล็กบานใหญ่ไม่มั่นคง ประตูรั้วเหล็กไม่มีเสากั้นล้ม……พื้นทรุด รางประตูชำรุด

2.6 พบรังต่อแตน หรือรังผึ้ง

ตามต้นไม้ใหญ่ หรือมีสุนัขจรจัด ไม่มีเจ้าของเดินเพ่นพ่านในบริเวณโรงเรียนได้

3. ไม่มีความปลอดภัยภายในอาคาร

อันตรายที่พบในอาคารส่วนใหญ่เกิดจาก การพลัดตกตึกสูงตั้งแต่ 3-4 ชั้นขึ้นไป ของหนักล้มทับหรือตกใส่ ไฟฟ้าดูด และได้รับสารเคมี สารพิษ สารติดไฟต่างๆ ที่ไม่จัดเก็บให้เหมาะ

3.1 บันได ระเบียง ไม่มีราวหรือผนังกันตก

หรือมีแต่ซี่ราวกันตกห่างมากกว่า 9 ซม. เด็กมุดลอดได้ หรือราวกันตกชำรุดแล้วไม่ซ่อมแซม หรือวางเฟอร์นิเจอร์ เช่น เก้าอี้ ติดกับราวกันตก ส่งเสริมให้เด็กปีนป่ายง่ายขึ้น

3.2 ของหนักที่แขวน ยึดติดไว้ที่สูงภายในอาคารไม่มั่นคง

เช่น พัดลม ทีวี มีการชำรุด โยกเยกอาจหล่นใส่หัว

3.3 ระบบไฟฟ้าไม่มีสายดิน

อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสี่ยง เช่น ตู้น้ำเย็นไม่ต่อสายดิน ไม่มีตัวตัดไฟอัตโนมัติ พอมองไปที่พื้นยังพบว่าพื้นบริเวณที่เด็กยืนกดน้ำเปียกแฉะ พร้อมจะทำให้เด็กไฟดูดได้ง่าย ปลั๊กไฟชำรุด แต่ไม่ซ่อมแซม โดยเฉพาะในห้องคอมพิวเตอร์ที่มีเต้ารับเต็มไปหมด

3.4 ตามห้องเรียนมีของอันตรายวางระเกะระกะ

ไม่จัดวางไว้ในที่ที่เด็กหยิบเล่นไม่ได้เช่น สารเคมี แอลกอฮอล์ กรดต่างต่างๆ หรือยาสามัญประจำบ้าน เด็กๆ อาจนำมาเล่นกันด้วยความคึกคะนองได้

 

เรื่องโดย : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี

ภาพประกอบ : beeclassic