
เทคนิคการเลือกโรงเรียนให้ลูกน้อยวัย เตรียมอนุบาล
เตรียมอนุบาล วัยที่ต้องการการดูแลจากพ่อแม่อย่างใกล้ชิด แต่บ้านไหนจำเป็นที่ต้องส่งลูกเข้า เนอสเซอรี่ หยุดกังวลด้วยเทคนิคการเลือกรร.ดีๆ มาฝาก
เทคนิคการเลือกโรงเรียนให้ลูกน้อยวัย เตรียมอนุบาล !!
วัยเตรียมอนุบาล วัยเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 3 ปี เป็นวัยก่อนวัยเรียนอนุบาล ที่ในปัจจุบันบางคนเรียก โรงเรียนเตรียมอนุบาลว่า ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ หรือสถาบันพัฒนาเด็กเล็ก หรือเนิร์สเซอรี่ แต่ไม่ว่าจะเรียกกันว่าอย่างไร นั่นก็หมายถึงการที่พ่อแม่ต้องการพาลูกเล็ก เข้าไปสู่ความดูแลของผู้อื่น ไม่ว่าด้วยเหตุจำเป็นทางด้านใดก็ตาม จึงทำให้เกิดคำถามมากมายถึงความเหมาะสม ความพร้อมของเด็ก ว่าเป็นวัยที่ควรให้เข้าโรงเรียนหรือไม่อย่างไร
ความจำเป็นที่ลูกต้องเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียน จำเป็นจริงหรือ??
เด็กจำเป็นต้องได้รับการเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียน ดังนั้นต่อข้อคำถามที่ว่าลูกจำเป็นต้องได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนเข้าโรงเรียนนั้น จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่คำถามสำคัญที่จะตามมามากกว่าที่เป็นประเด็นสำคัญว่า
” ใครจะเป็นคนดูแล สอนการเตรียมความพร้อมให้กับลูก และอย่างไร?”
ในเรื่องประเด็นดังกล่าว เราขออนุญาตหยิบยก บทความของคุณหมอ สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ที่กรุณาได้ให้คำแนะนำไว้ในเพจ FB : สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ ดังนี้
ถ้าพ่อแม่ดูแลลูกเอง..ไม่จำเป็นต้องส่งเข้าโรงเรียนเร็วเลยค่ะ..พ่อแม่ดูแลเองดีที่สุด ..การส่งลูกเข้าเรียนเร็วกว่าวัยอนุบาล ไม่ได้ทำให้เด็กเรียนเก่งหรือพัฒนาการดีกว่าแต่อย่างใด
แต่ถ้าเป็นครอบครัวที่พ่อแม่ทำงานนอกบ้านทั้งคู่ ช่วงเวลาที่พ่อแม่ไม่อยู่ด้วย ..ใครเป็นผู้ดูแลลูก ..ไว้ใจได้หรือไม่ เพราะมีกรณีที่พี่เลี้ยงอยู่กับเด็กตามลำพัง แล้วทำร้ายเด็กหรือเกิดอุบัติเหตุทำเด็กหล่นแล้วไม่ยอมบอกพ่อแม่ ..ผู้ดูแลมีความเข้าใจในธรรมชาติของเด็กวัยนี้เป็นอย่างดีหรือไม่ มีการกระตุ้นพัฒนาการหรือเปิดโอกาสให้ลูกได้ทำกิจกรรมที่สมวัยหรือไม่ ..ถ้ามีผู้ดูแลที่ดีมีคุณภาพอยู่แล้ว และลูกก็ดูมีความสุขดี ให้ลูกอยู่บ้านดีที่สุด รอเข้าเรียนตอนอนุบาลทีเดียวเลย ที่อายุประมาณ 3 ขวบ เพราะโอกาสติดเชื้อโรคจะน้อยกว่าหรือถึงติดเชื้ออาการก็มักรุนแรงน้อยกว่าเด็กเล็กมากๆ ไม่ต้องห่วงเรื่องวิชาการจะสู้เพื่อนไม่ได้ เพราะถึงเข้าเรียนช้ากว่า แต่ถ้าวัยพร้อม เดี๋ยวเดียวก็เรียนทันกันค่ะ

สรุป สิ่งที่ควรคำนึงก่อนตัดสินใจพาลูกวัย เตรียมอนุบาล เข้าโรงเรียน
- ยอมรับการเจ็บป่วยของลูกได้ ต้องยอมรับว่าเมื่อนำเด็กเล็กไปรวมกลุ่มหมู่มาก โอกาสที่เขาจะติดเชื้อ เผชิญกับโรคติดต่อต่าง ๆ ย่อมมีมากกว่า เป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นโรคหวัด โรคมือเท้าปาก โรคอีสุกอีใส เป็นต้น ดังนั้นหากมีความจำเป็นจริง ๆ และตัดสินใจแล้วว่าต้องส่งลูกเข้าเนิร์สเซอรี่ ควรเตรียมความพร้อมเรื่องวัคซีน หรือ ควรทำประกันสุขภาพเด็กให้กับลูกเสียก่อน เพื่อรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ผ่อนหนักให้เป็นเบาได้
- สอบถามความคิดเห็นกับคนในครอบครัว เพื่อหาทางออกร่วมกัน หากสรุปแล้วจำเป็นต้องพาลูกเข้าเนิร์สเซอรี่ จะเป็นแบบไหน รูปแบบอย่างไร ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และช่วยกันสอดส่องดูแล
- หาเวลาทดแทนให้กับลูก เนื่องจากในการพาลูกเข้าเรียนโรงเรียนเตรียมอนุบาลซึ่งในความเป็นจริงเด็กควรได้อยู่กับพ่อแม่ให้มากที่สุด แต่ด้วยเหตุจำเป็น ดังนั้นพ่อแม่ต้องหาเวลาคุณภาพมามอบคืนให้แก่เขา หลังจากที่เขากลับมาบ้าน เราควรสนใจ ให้เวลากับลูก กอดหอมให้ความรักอย่างเต็มที่เพื่อทดแทนเวลาที่หายไป เพราะแม้ว่าเราจะไม่สามารถเลี้ยงเขาได้ตลอด 24 ชั่วโมง แต่หากลูกรับรู้ได้ว่าความรักของเรายังมีให้เขาเต็มที่ก็สามารถชดเชยช่วงเวลาที่ขาดหายไปได้
- ค่าใช้จ่าย โรงเรียนเตรียมอนุบาลก็มีให้เลือกหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่เป็นมาตรฐาน หลักสูตรภาษาต่างประเทศเพิ่มเติม หรือแบบบ้าน ๆ รับเลี้ยงเด็กทั่วไป ดังนั้น พ่อแม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่าย และคุณภาพที่จะได้รับตามมา ว่าเหมาะสมกับสถานภาพของครอบครัวเราแค่ไหน เพราะอย่าลืมว่าการเรียนของลูกไม่ได้หยุดแค่โรงเรียนเตรียมอนุบาล นี่เป็นเพียงเริ่มต้นเท่านั้น
เทคนิคการเลือกโรงเรียนให้ลูกวัย เตรียมอนุบาล !!
เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสม และความจำเป็นกันแล้ว ครอบครัวตัดสินใจว่าจำเป็นต้องส่งลูกเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอนุบาล หรือเนิร์สเซอรี่กันแล้ว ก็ไม่ต้องกังวลกันไป เพราะความจำเป็นของแต่ละบ้านมีไม่เหมือนกัน การส่งลูกเข้าเรียนก่อนวัยอนุบาลก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวมากนัก หากเรามีวิธี เทคนิคในการเลือกสถานที่ โรงเรียนที่ดี ปลอดภัย เหมาะสม ให้แก่ลูกน้อย ย่อมดีกว่าปล่อยเขาไว้โดยไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมใด ๆ เลย
ข้อดีของการส่งลูกเข้าเรียนเตรียมอนุบาล
- ช่วยผ่อนแรง และมีคนช่วยสอนการเตรียมความพร้อมให้ลูกอย่างถูกต้อง เพราะหากคุณพ่อคุณแม่ต่างทำงานทั้งคู่ย่อมมีเวลาไม่เต็มที่ให้กับลูก การหาผู้ช่วยมาดูแลในเวลาที่เราทำงานก็ย่อมดีกว่า
- ช่วยให้ลูกคุ้นเคย ปรับตัวได้ง่ายเวลาเข้าเรียนอนุบาล การเข้าเตรียมอนุบาลลูกจะต้องมีกิจวัตรประจำวันเป็นตารางประจำ ทำให้เขาได้คุ้นเคยก่อน และปรับตัวได้ในกลุ่มเล็ก ๆ ก่อนที่จะเข้าโรงเรียนจริง
- ฝึกทักษะการอยู่ร่วมกับคนอื่น แม้ว่าเด็กวัยนี้จะยังไม่ได้มีพัฒนาการทางสังคมมากนัก แต่การที่เขามีประสบการณ์พบเจอการอยู่ร่วมกับคนอื่นก่อน ก็ย่อมทำให้เขาปรับตัว เพิ่มทักษะได้เร็วกว่าเมื่อเขาพร้อม
- ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย จากกิจกรรมที่ต้องทำ เช่น ปีนป่าย ขยับแขนขา ในโรงเรียนที่มีสถานที่กว้างขวาง เครื่องเล่นกระตุ้น ก็จะทำให้ลูกได้ออกกำลังกายพัฒนากล้ามเนื้อได้มากกว่าอยู่แต่ในบ้าน
- ได้เรียนรู้บทเรียนในเบื้องต้นก่อนการเข้าเรียนอนุบาล แม้ว่าจะไม่ได้เป็นรูปแบบชัดเจน แต่การพบเห็น เจอะเจออยู่เป็นประจำก็ทำให้เขาจำได้ เรียนรู้ได้เร็วขึ้น
เมื่อคุณพ่อคุณแม่มั่นใจกับการตัดสินใจเลือกให้ลูกเข้าสู่ โรงเรียนเตรียมอนุบาล หรือเนิร์สเซอรี่กันแล้ว เรามาดูเทคนิค หรือข้อที่ควรคำนึงก่อนเลือกโรงเรียนให้ลูกกันดีกว่า
-
ค่าใช้จ่าย
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า รูปแบบของโรงเรียนเตรียมอนุบาลมีมากมาย หลากหลายหลักสูตร ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการเข้าเรียนย่อมแตกต่างกันไป คุณพ่อคุณแม่ต้องเข้าไปสอบถาม และประเมินว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวในระยะยาวนี้เหมาะสมกับสถานภาพของครอบครัวเราหรือไม่ อย่างไร

-
ระยะทางสถานที่
พิจารณาว่าระยะทางระหว่างโรงเรียนกับบ้าน สะดวกรับส่ง ใกล้ไกลจากบ้าน หรือที่ทำงาน ควรเลือกที่เดินทางสะดวก เพื่อไม่ให้เด็ก ๆ รู้สึกเหนื่อยกับการเดินทาง ไม่ใช้เวลามากเกินไป เพราะเขาจะต้องเดินทางนี้ทุกวัน
-
นโยบายของโรงเรียนตรงกับพ่อแม่หรือไม่
เช่น สนับสนุนการให้นมแม่ โดยยินดีป้อนนมลูกแบบจิบดื่มจากถ้วยแทนการให้ดูดจากขวด หากแม่ร้องขอ เนื่องจากกลัวลูกไม่ยอมดูดจากเต้า หากติดใจขวด ไม่ให้ขนมหวานที่ไม่มีประโยชน์ แต่เน้นการให้ผักหรือผลไม้เป็นอาหารว่าง เป็นต้น
-
คุณภาพการจัดการของสถานที่โรงเรียนดีหรือไม่
สถานที่ปลอดภัย มีมาตรการทำความสะอาดที่ดี เพียงพอ ช่วยป้องกันโรคระบาดให้กับเด็ก ๆ ได้เป็นอย่างดี มีมาตรการดูแลเมื่อเกิดโรคระบาดอย่างไร เป็นเรื่องที่สำคัญมากอันดับต้น ๆ ของการตัดสินใจเลือก เพราะสุขภาพของลูกสำคัญ ความปลอดภัยเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องดู เช่น ปลอดภัยมีประตูกั้นที่เด็กจะเดินออกไปเองไม่ได้ ทางหนีไฟ ระบบตรวจจับควันไฟ การติดตั้งของเล่นมั่นคง มีที่จอดรถห่างจากที่เล่นของเด็ก ไม่แออัด มีการระบายถ่ายเทอากาศที่ดี ถ้าเป็นห้องแอร์ควรมีเครื่องฟอกอากาศ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจ ควรมีห้องแยกเวลาเด็กป่วย มีของเล่นที่หลากหลายเหมาะกับแต่ละวัยเพื่อช่วยเสริมพัฒนาการและมีจำนวนเพียงพอแก่เด็ก ทางโรงเรียนควรมีกล้องวงจรปิดเพื่อคอยตรวจสอบและย้อนดูเหตุการณ์ได้ ในกรณีที่มีความไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้นแก่ลูก มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดีกรณีคนแปลกหน้ามาลักพาเด็ก เป็นต้น
-
จำนวนครู พี่เลี้ยง บุคลากร เพียงพอกับจำนวนเด็กแค่ไหน ดูแลได้ทั่วถึงหรือไม่
คุณภาพของครู และพี่เลี้ยง เป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคติดต่อ ไม่มีประวัติอาชญากรรม ผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับเด็ก และการช่วยเหลือชีวิต การปฐมพยาบาลเบื้องต้น มีโปรแกรมในการพัฒนาศักยภาพครูหรือไม่ และที่สำคัญมีบุคลิกภาพรักเด็ก ใจเย็น มีความรู้ความชำนาญในการดูแลเด็กมากแค่ไหน
เคล็ดลับควรสังเกต : ครู พี่เลี้ยงในโรงเรียนนั้น ใช้ทีวีในการดูแลเด็กมากแค่ไหน เพราะผลเสียจากการดูทีวีมีมากมาย หากใช้ทีวีเลี้ยงเด็ก ควบคุมความสงบเรียบร้อยในห้องเพียงอย่างเดียว อาจทำให้ลูกได้ผลกระทบจากการดูทีวีตั้งแต่เด็ก เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น ออทิสติกเทียม เป็นต้น
-
มีเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินของโรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีดับเพลิง อยู่ในที่เห็นได้ง่าย
ในกรณีที่เด็กมีอาการป่วยเฉียบพลันและจำเป็นต้องได้รับการตรวจรักษาทันที ทางโรงเรียนควรมีระบบการนำส่งให้เด็กได้รับการตรวจได้ทันทีโดยไม่ต้องรอผู้ปกครอง เพราะอาจไม่ทันการณ์

-
ตารางการเรียนการสอนเหมาะสมกับลูกเราหรือไม่
ก่อนที่จะสมัครเรียนควรสอบถามคุณครูผู้สอนว่ามีการเรียนการสอนเบื้องต้นอย่างไรบ้าง มีอาจารย์ผู้สอนกี่คนต่อจำนวนนักเรียน และแยกห้องเด็กเล็กกับเด็กโตหรือเปล่าจะได้ไม่เกิดการตีกัน โดยส่วนใหญ่นักเรียนเนิร์สเซอรี่จะอยู่ในวัย 1 – 3 ขวบ เมื่อเข้าถึงวัย 2 ขวบเด็กจะรู้เรื่องมากขึ้น แต่ถ้าวัย 1 ขวบอาจจะต้องให้คุณครูประกบตัวนักเรียนตัวต่อตัว ต้องป้อนข้าวให้ด้วยเพราะยังจับช้อนเข้าปากเองไม่เป็น อีกอย่างรุ่นพี่อาจจะเล่นรุนแรงกว่ารุ่นน้องจึงจำเป็นต้องแยกกันเพื่อความปลอดภัย
-
ที่จอดรถ
อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าพิจารณา แต่ในทางปฎิบัติ หากเราต้องมาส่งลูกเพียวคนเดียว อีกทั้งลูกเป็นเด็กเล็กต้องคอยดูแล การหาที่จอดรถเพื่อรับส่งที่ปลอดภัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ และหากมีไม่เพียงพอ อาจทำให้เสียเวลาในการรับส่งลูกอีกด้วย
-
อาหารถูกสุขลักษณะ
มีห้องเตรียมอาหารที่ถูกสุขลักษณะ จัดอาหารและของว่างถูกต้องตามหลักโภชนาการและน่ารับประทาน
สัญญาณบ่งบอกว่าลูกถูกทำร้าย
แน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากให้สิ่งนี้เกิดขึ้นกับเด็กๆ และนี่คือสัญญาณเตือนที่คุณพ่อคุณแม่ต้องสังเกตให้เป็น หากลูกถูกทำร้ายจะได้รีบแก้ไขปัญหาได้ทัน
- โหยหาพ่อแม่ ถ้าปกติลูกไม่เคยโผเข้ากอดพ่อแม่หลังไปรับ แต่จู่ๆลูกวิ่งเข้าหาพ่อแม่แบบโหยหา หรือร้องไห้ใส่ทันทีที่เห็นหน้า ให้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าอาจมีเหตุไม่ปกติเกิดขึ้นกับลูก หรือมาร้องไห้ทันทีที่ถึงบ้านเพราะอยู่ต่อหน้าครูที่โรงเรียนแล้วไม่กล้าร้อง
- มีความหวาดกลัว ไม่อยากไปเนอสเซอรี่ ยิ่งถ้าปกติลูกเป็นเด็กร่าเริงแล้วอยู่ๆกลายเป็นไม่พูด เงียบ ไม่ร่าเริงเหมือนเก่า งอแง และร้องไห้ไม่ยอมไปเรียน ให้ถามลูกได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น
- พัฒนาการช้า ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยกว่าที่ควรเป็นตามวัย งอแง ขี้ตกใจ
- พบรอยเขียวช้ำตามตัว ควรสังเกตตามตัวลูกว่ามีรอยแผลเขียวช้ำหรือเปล่า โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเป็นประจำ และควรเช็คในบริเวณร่มผ้าด้วย เพราะส่วนใหญ่พี่เลี้ยงมักทำร้ายในที่ที่มองเผินๆไม่เห็น

ถ้าลูกถูกทำร้ายจากเนอสเซอรี่ควรทำอย่างไร
- เมื่อสอบถามลูกแล้วพบว่าถูกทำร้าย ให้รีบพาลูกไปตรวจร่างกาย เพื่อให้แพทย์เช็คความผิดปกติ ถ่ายรูปร่องรอยที่ถูกทำร้ายและเก็บหลักฐานทางการแพทย์ไว้
- หากลูกไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงและไม่ได้มีอาการผิดปกติ ให้คุณพ่อคุณแม่ใช้วิธีสืบจากเพื่อนในห้องหรือผู้ปกครองคนอื่นๆ ก่อน เพื่อหาพยานและหลักฐาน จากนั้นให้รีบแจ้งผู้บริหารเนอสเซอรี เพื่อขอเช็คกล้องวงจรปิด และขอแนวทางแก้ไข
- หากลูกบาดเจ็บหนัก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและศูนย์ดำรงธรรมหรือมูลนิธิคุ้มครองเด็กให้เข้ามาดูแล
- ย้ายเนอสเซอรี่ทันที เพื่อป้องกันลูกถูกทำร้ายอีก
เตรียมความพร้อมให้ลูกเอง ไม่ยาก !!
แม้ว่าคุณพ่อคุณแม่ที่ทำงาน ไม่มีเวลาให้ลูกได้ทั้งวัน แต่เราก็สามารถเตรียมความพร้อมให้กับเขาได้ด้วยตนเอง ได้ไม่ยาก เพียงแค่หาเวลาว่างจากงาน มอบเวลาคุณภาพให้กับลูกน้อย และร่วมกันทำกิจกรรมเหล่านี้ ก็เป็นการช่วยใน การ เตรียม ความพร้อมให้กับลูก ๆ ได้มากมาย
- แนะวิธีจัดการอารมณ์อย่างถูกวิธี เช่น สอนกลวิธีรับมือเมื่อลูกของคุณอารมณ์เสีย เช่น หายใจเข้าลึก ๆ นับถึงสิบ
- กำหนดตารางเวลาและกิจวัตรประจำวันที่บ้านอย่างชัดเจน และพ่อแม่ทำตามเป็นตัวอย่างด้วย ไม่เพียงแค่ทำตามตารางที่โรงเรียน ที่บ้านก็ต้องสอนให้สอดคล้องกัน
- รับประทานอาหารร่วมกันเป็นครอบครัวอย่างน้อยวันละ 1 มื้อ
- อ่านนิทานให้ลูกฟังด้วยกันบ่อย ๆ หรือกำลังเวลาแน่นอนที่ลูกจะได้ฟังนิทาน
- หากิจกรรมยามว่างที่ชื่นชอบร่วมกัน เช่น ทำงานศิลปะง่าย ๆ ด้วยกัน เล่นบทบาทสมมติ เป็นต้น
- ให้ลูกออกไปเล่นกลางแจ้งให้ได้มากที่สุด
การเตรียมความพร้อม สำหรับ เด็กวัย เตรียมอนุบาล - สอนลูกให้รู้จักดูแลตนเอง เช่น สอนลูกให้แต่งตัว และถอดเสื้อผ้าเอง
- เล่นกับลูกให้มากที่สุด ทำตามการเล่นของพวกเขา
- พาออกไปเรียนรู้นอกห้องเรียน เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และสถาบันทางวัฒนธรรมอื่น ๆ
- เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่สนับสนุนให้เขาอยู่กับหน้าจอ หากิจกรรมอื่น ๆ มาทดแทน เพื่อพัฒนาการที่ดีในระยะยาวของลูกน้อย
- ให้เวลากับลูกเต็มที่ ไม่ดูหน้าจอ เล่นโซเซียล ขณะอยู่กับลูก
ข้อมูลอ้างอิงจาก https://story.motherhood.co.th/https://www.nakornthon.com
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก
ส่งลูกเข้า เตรียมอนุบาล จำเป็นมั้ย? ควรให้ลูกเข้าเรียนตอนกี่ขวบดี?
หมอชี้! หลักการ เลือกโรงเรียนให้ลูก โรงเรียนที่ดีต้องมี 3 ข้อนี้
เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่