ประจาน ให้จำ เมื่อ ลูกทำผิดซ้ำ ๆ

รับมืออย่างไรเมื่อลูกทำผิดซ้ำๆ ประจาน ให้จำหรือซ้ำแผลใจลูก

ประจาน วิธีที่ผู้ใหญ่มักใช้ให้เด็กกลัวและจำ เมื่อเขาทำผิด เป็นวิธีที่ส่งผลดีจริงหรือ บาดแผลที่ทำผิดพลาดว่าใหญ่แล้วหากถูกทำให้อับอาย บาดแผลในใจลูกจะขนาดไหนนะ

รับมืออย่างไรเมื่อลูกทำผิดซ้ำๆ ประจาน ให้จำหรือซ้ำแผลใจลูก?

เด็กกับการทำผิด คงเป็นเรื่องปกติ ก็เพราะว่าเด็ก คือ วัยแห่งการเรียนรู้ การทำผิดของเด็กจึงไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แต่หากเป็นการเรียนรู้ของพวกเขานั่นเอง แต่การเรียนรู้นั้นจะเป็นการต่อยอดความคิด ให้เขาได้ศึกษา และเปลี่ยนแนวทางการกระทำ เรียนรู้จากความผิดพลาด หรือความผิดพลาดนั้น จะเป็นการเรียนรู้ให้เด็กเข้าใจว่า การทำผิดเป็นเรื่องไม่ดี และไปลดทอนการเห็นคุณค่าในตัวเอง จนเกิดความกลัว และกลายเป็นเด็กที่ไม่มีความกล้าแสดงออก ไม่กล้าแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา ผลลัพธ์จะออกมาแบบไหนนั้น นั่นอยู่ที่เราพ่อแม่ และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตของเด็กว่าจะทำให้ออกมาเป็นแบบใด

ทฤษฎีการลองผิดลองถูก ของธอร์นไดค์ : ทำผิด = เรียนรู้

Thorndike ธอร์นไดค์ ได้กล่าวว่า การเรียนรู้ คือ การที่ผู้เรียนสามารถสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง ระหว่างสิ่งเร้า การตอบสนอง และการได้รับความพึงพอใจจะทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น โดยทฤษฎีของเขาเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด ในการทดลอง เอาแมวที่หิวใส่ในกรง ข้างนอกกรงมีอาหารทิ้งไว้ให้ แมวเห็นในกรงมีเชือกที่ปลายข้างหนึ่งผูกกับบานประตูไว้ ส่วนปลายอีกข้างหนึ่ง เมื่อถูกดึงจะทำให้ประตูเปิด ธอร์นไดค์ได้สังเกตเห็นว่าในระยะแรก ๆ แมวจะวิ่งไปมา ข่วนโน่นกันนี่ เผอิญไปถูกเชือกทำให้ประตูเปิด ออกไปกินอาหารได้ เมื่อจับแมวใส่กรงในครั้งต่อไป แมวจะดึงเชือกได้เร็วขึ้นจนกระทั่งในที่สุดแมวสามารถดึงเชือกได้ในทันที

ธอร์นไดค์ ได้สรุปว่า การลองผิดลองถูกจะนำไปสู่การเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า และการตอบสนอง การเรียนรู้ ก็คือการที่มีการเชื่อมโยง (Connection) ระหว่างสิ่งเร้า (Stimuli) และการตอบสนอง (Responses)

เด็กกับการ ลองผิดลองถูก
เด็กกับการ ลองผิดลองถูก

Trial and Error

การเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกมีใจความที่สำคัญว่า เมื่ออินทรีย์กระทบสิ่งเร้า อินทรีย์จะลองใช้วิธีตอบสนองต่อสิ่งเร้าหลาย ๆ วิธี จนพบกับวิธีที่เหมาะสม และถูกต้องกับเหตุการณ์ และสถานการณ์ เมื่อได้รับการตอบสนองที่ถูกต้องก็จะนำไปต่อเนื่องเข้ากับสิ่งเร้านั้น ๆ มีผลให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น

ที่มา : จิตวิทยาสำหรับครู รศ.มัณฑรา ธรรมบุศย์

การตอบสนองของพ่อแม่…เมื่อลูกทำผิดซ้ำ ๆ 

เป็นความจริงที่ว่า เมื่อเด็กทำผิดนั่นเพราะเขาได้ลงมือทำ การได้ลงมือทำก็ย่อมเกิดการเรียนรู้ แต่ผู้ใหญ่จะมีวิธีการสอน หรือตอบสนองอย่างไรเมื่อเด็กทำผิด เพื่อให้การลองผิดลองถูกของเขาเป็นไปอย่างมีทิศทาง ไม่สะเปะสะปะกันไปเสีย ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องมาทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า เด็กไม่ได้อยากทำผิดซ้ำ ๆ ดังนั้นผู้ใหญ่จึงควรหาสาเหตุของการที่ลูกทำผิดบ่อย ๆนั้นก่อน เพราะบางครั้งพฤติกรรมที่ผิดปกติของลูก อาจเป็นการสื่อถึงปัญหาบางอย่างที่ลูกกำลังประสบ

สาเหตุที่ลูกทำผิดซ้ำ ๆ 

  1. เด็กอาจมีปัญหาทางด้านพัฒนาการของเขา เช่น ปัญหาสมาธิสั้น เด็กบางคนมีพัฒนาการที่ล่าช้าทางด้านร่างกาย ภาษา สติปัญญา เด็กเป็นแอลดี (Learning disorder) หรือ ภาวะบกพร่องทางการเรียนเฉพาะด้าน(อ่าน/เขียน/คำนวน) เป็นต้น จึงเป็นสาเหตุให้ลูกทำผิดซ้ำ ๆ สิ่งสำคัญ คือ เมื่อเด็กมีปัญหา พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ต้องหาสาเหตุ ไม่มองว่าเป็นความผิดของเด็ก หากเรามองเด็กในแง่ลบ ตำหนิเด็ก และยิ่งใช้อารมณ์กับลูก จะยิ่งทำให้เขาต่อต้าน หรืออาจเกิดปัญหาทางด้านจิตใจด้านอื่นได้ เด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ เขาอาจจะควบคุมตัวเองได้ยากลำบากกว่าเด็กคนอื่น พ่อแม่ควรให้ความช่วยเหลือ พาลูกไปพบจิตแพทย์ หรือแพทย์พัฒนาการ เพื่อประเมิน และบำบัดในแนวทางที่เหมาะสม ก็จะสามารถทำให้ลูกกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ และไม่เกิดบาดแผลทางใจอีกด้วย
  2. ลูกอาจกำลังเรียกร้องความสนใจ การที่เด็กเลือกทำผิดเพราะเมื่อเขาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ผู้ใหญ่มักมองไม่เห็นในสิ่งที่เขาทำ แต่เมื่อเขาทำผิด มักจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่มากกว่า เด็กจึงทำผิดเพื่อเรียกร้องความสนใจ แต่การเรียกร้องความสนใจของลูกมันยังแสดงให้เห็นถึงสัญญาณเตือนที่ลูกส่งผ่านมายังพ่อแม่ ว่าเขากำลังประสบกับปัญหาอะไรบางอย่าง และต้องการความช่วยเหลือ ตัวอย่างเช่น
    • ต้องการเวลาจากพ่อแม่บ้าง ในยุคปัจจุบันที่ทั้งพ่อและแม่ต่างก็ต้องออกไปทำงาน จนบางครั้งเรามัวแต่ทำตามหน้าที่จนอาจละเลยเวลาร่วมกันของครอบครัว เด็กอาจทำเพื่อเรียกร้องให้พ่อแม่จัดสรรเวลาให้แก่เขาบ้าง เวลาที่จะมอบให้แก่ลูกไม่จำเป็นแต่มากมาย ขอแค่เป็นเวลาคุณภาพสำหรับพวกเขา เช่น อ่านนิทานด้วยกันก่อนนอน เล่น ทำกิจกรรมร่วมกัน ทำงานบ้านด้วยกัน เป็นต้น เป็นช่วงเวลาที่เรามอบให้แก่ลูก ด้วยความใส่ใจจริง ๆ
    • ลูกกำลังประสบปัญหาที่โรงเรียน หรือกับเพื่อน การทำผิดอาจเป็นสัญญาณที่กำลังบอกพ่อแม่ว่าเขากำลังถูกกลั่นแกล้งที่โรงเรียน ซึ่งลูกอาจไม่สามารถบอกเล่าได้ตรง ๆ พ่อแม่ควรมีเวลานั่งฟัง พูดคุยให้ลูกได้ระบายออกมา หรือหากลูกไม่ยอมบอก อาจต้องพึ่งผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ให้ช่วยได้
    • เกิดเหตุการณ์ หรือสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่ลูกยังไม่คุ้นเคย จึงทำให้เขายังไม่สามารถจัดการกับชีวิตได้อย่างลงตัว เช่น มีสมาชิกใหม่ในบ้าน พ่อแม่มีน้องใหม่ รับปู่ย่าตายายมาอยู่ด้วย เป็นต้น
    • ถูกคาดหวังมากเกินไป บางครั้งพ่อแม่ก็อาจพูด หรือแสดงความคาดหวังกับลูกในเรื่องที่เกินวัย หรือความสามารถของเขา การเปรียบเทียบคนอื่นกับลูก หรือการกล่าวชื่นชมคนอื่น อาจเป็นการกดดันให้ลูกรู้สึกว่ากำลังแบกรับความคาดหวังของพ่อแม่อยู่ ทำให้เขายิ่งทำยิ่งผิด ไม่เป็นไปดั่งที่พ่อแม่หวังเสียที
ปรับพฤติกรรมด้วยการลงโทษ หรือ ประจาน ดีจริงหรือ
ปรับพฤติกรรมด้วยการลงโทษ หรือ ประจาน ดีจริงหรือ

ดังนั้น พ่อแม่ควรมองให้ลึกไปกว่าแค่ลูกทำผิด แต่การทำผิดซ้ำๆ มักบ่งบอกปัญหาอะไรบางอย่างที่เด็กไม่สามารถบอกเราได้ตรงๆ ในบางครั้ง สาเหตุของการเรียกร้องความสนใจของลูกจากพ่อแม่ อาจแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะของครอบครัว พ่อแม่มีหน้าที่คอยสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าผิดปกติหรือไม่ และควรทำตัวให้เด็กรู้สึกว่า เราเป็นพื้นที่ safe zone ของเขาได้ นั่นจะทำให้เราสามารถเข้าไปรับรู้ และช่วยลูกแนะนำแนวทางแก้ไขปัญหาของลูกได้

วิธีการตอบสนองเมื่อลูกทำผิดซ้ำ ๆ 

  1. ลงมือทำไปพร้อมกัน เมื่อเห็นว่าลูกทำผิดซ้ำ ๆ นั่นแสดงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือ พ่อแม่ควรชวนลูกมาลงมือทำไปพร้อม ๆ กัน ทีละขั้นตอน ให้เขาได้เรียนรู้ และรู้สึกอุ่นใจว่าไม่ได้โดนจับผิดอยู่ เมื่อเราทำไปด้วยกัน
  2. ไม่พูดจาตำหนิ พ่อแม่บางคนแม้ว่าในใจจะหวังดีกับลูก แต่ก็อดไม่ได้ที่จะพูดจาเชิงตำหนิ ให้ลูกอับอาย เพราะคิดว่าจะช่วยให้ลูกจำ เข็ดหลาบ และจะได้ไม่ทำอีก แต่นั่นกลับเป็นการผลักไส และฝากรอยบาดแผลไว้ในใจลูก ในใจเด็กมากเสียกว่า ควรใช้คำพูดสั้น เป็นกลาง ไม่ใส่คำตัดสิน และบอกสิ่งที่เราต้องการให้เขากระทำชัดเจน เช่น ทำไมสอนไม่รู้จักจำ เปลี่ยนเป็น ลูกกำลังทำอะไรอยู่? แม่อยากให้ลูกเอาของไปเก็บเข้าที่หลังเล่นเสร็จแล้ว เป็นต้น
  3. บอกว่าพ่อแม่รักลูกเสมอ  เด็กจะอยากทำสิ่งที่ถูกต้องเพราะพ่อแม่ก็รักเขาและเขาก็รักพ่อแม่เช่นกัน ไม่ใช่เพราะเขากลัวพ่อแม่ตำหนิ
  4. งานบ้านช่วยได้ เด็กที่ทำผิด คือ เด็กที่ควบคุมตัวเองไม่ได้ การแก้ปัญหาที่ตรงไปตรงมาที่สุด คือ การให้เด็กทำงานที่ต้องควบคุมตัวเอง งานบ้านจึงเป็นงานที่เหมาะสมให้เด็กทำเพื่อฝึกฝนตัวเอง
  5. เปลี่ยนสภาพแวดล้อม บ้านที่ขาดวินัย ไม่เป็นระเบียบ อาจส่งผลต่อการทำผิดซ้ำ ๆ ของลูก  พ่อแม่ควรทำให้บ้านมีกติกาที่ชัดเจน และจัดตารางเวลาที่แน่นอน ช่วยให้ลูกจัดระเบียบชีวิตของตัวเองได้ง่ายขึ้น เช่น ลูกชอบลืมทำการบ้าน หากเขามีตารางเวลาที่แน่นอน จะช่วยลดปัญหาตรงนี้ไปได้ เป็นต้น

อ่านต่อ>> ผลเสียของการ ประจาน ให้อับอายร้ายแรงกว่าที่คิด คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่